โควิด-19 : วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า “ภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับสยามไบโอไซเอนซ์” ย้อนลำดับเหตุการณ์และอุปสรรคการจัดส่งวัคซีน

ขวดแอสตร้าฯ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

หลังจากการเซ็นสัญญาจองวัคซีนล่วงหน้าระหว่างทางการไทยกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเมื่อเดือน พ.ย. ปี 2563 บริษัทผู้ผลิตวัคซีนแห่งนี้ออกมายอมรับต่อประชาชนชาวไทยกลางเดือน ก.ค. ว่าจะสามารถจัดสรรวัคซีนให้กับไทยได้โดยเฉลี่ย 5-6 ล้านโดสต่อเดือน โดยให้เหตุผลเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบ ส่งผลให้ "ไม่สามารถคาดการณ์จำนวนการผลิตที่แน่นอนได้" ก่อนส่งเอกสารแถลงข่าวแจ้งว่าปิดยอดการส่งวัคซีนเดือน ก.ค. ที่ 5.3 ล้านโดส

แอสตร้าเซนเนก้าระบุในเอกสารที่แจกจ่ายสื่อมวลชนวันนี้ (3 ก.ค.) ว่า ยอดรวมการส่งมอบวัคซีนให้ไทย ณ สิ้นเดือน ก.ค. อยู่ที่ 11.3 ล้านโดส

นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า สยามไบโอไซเอนซ์ (SBS) เป็นแหล่งผลิตวัคซีนที่มีผลงานยอดเยี่ยมแห่งหนึ่งในบรรดาเครือข่ายการผลิตของเราทั่วโลก โดยสามารถผลิตวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเต็มกำลังการผลิต รวมถึงสามารถส่งมอบวัคซีนที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพสูงสุดให้กับแอสตร้าเซนเนก้า

เอกสารที่เผยแพร่คำกล่าวของนายเจมส์ ทีก ระบุต่อไปด้วยว่า "เราพร้อมทำงานร่วมกับสยามไบโอไซเอนซ์ต่อไป เพื่อหาแนวทางเพิ่มเติมที่จะช่วยให้มีการส่งมอบวัคซีนได้เร็วขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้" และ "เรามีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับสยามไบโอไซเอนซ์..."

ตัวเลขการส่งมอบวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ผิดไปจากข้อมูลแผนบริหารจัดการวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เปิดเผยต่อสาธารณะไว้ก่อนหน้านี้ว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในไทย 61 ล้านโดส จะทยอยออกมา 7 ล็อต ในเดือน มิ.ย. 6 ล้านโดส และ ก.ค. 10 ล้านโดส ส่วนที่เหลือทยอยมาอีกเดือนละ 10 ล้านโดสจนครบจำนวน นั่นหมายความว่าการส่งมอบวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าใน 2 เดือนแรก พลาดไปจากเป้าหมายที่ สธ. ตั้งไว้ 4.7 ล้านโดสภายใน 2 เดือนแรก

บีบีซีชวนย้อนดูลำดับเหตุการณ์การจัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

วันที่ 27 พ.ย. 2563 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้า ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน โดยมี บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (SBS) ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19

พิธีเซ็นสัญญาซื้อวัคซีน

ที่มาของภาพ, ทำเนียบรัฐบาล

คำบรรยายภาพ, ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ลงนามในสัญญาจองล่วงหน้าและจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 27 พ.ย. 2563

จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 พ.ย. มีการจัดงบประมาณสำหรับการจองล่วงหน้าและการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าในไทยและในสหราชอาณาจักร ในวงเงิน 6,049,723,117 บาท โดยมีระยะดำเนินการตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 ถึง ธ.ค. 2564 ตั้งเป้าผลผลิตที่จำนวนวัคซีน 26 ล้านโดส สำหรับประชากรกลุ่มเป้าหมายตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จำนวน 13 ล้านคน

วันที่ 20 ม.ค. 2564 องค์การอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า จากข้อมูลโดยกรมควบคุมโรค วันที่ 23 ก.พ. ครม. เห็นชอบแก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีน จากเดิม 26 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส (เพิ่มอีก 35 ล้านโดส)

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ที่มาของภาพ, Rachaphon Riansiri/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เคยตั้งคำถามอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการเลือกสยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

วันที่ 24 ก.พ. 2564 วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรกมาถึงไทย 117,300 โดส โดย พล.อ. ประยุทธ์เข้ารับการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกของประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 มี.ค.

ปลัด สธ. เป็นผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้นายกฯ ที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อ 24 พ.ค.

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, ปลัด สธ. เป็นผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้นายกฯ ที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อ 24 พ.ค.

คำแถลงของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ระบุว่า นับตั้งแต่ อย. ทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อเดือน ม.ค. ถึงวันที่ 16 ก.ค. ไทยได้รับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ารวมทั้งสิ้น 8,193,500 โดส โดยแบ่งเป็นล็อตต่าง ๆ ได้แก่

  • วันที่ 28 ก.พ. จำนวน 117,300 โดส
  • วันที่ 28 พ.ค. จำนวน 242,100 โดส
  • วันที่ 4 มิ.ย. จำนวน 1,787,100 โดส
  • วันที่ 16 มิ.ย. จำนวน 610,000 โดส
  • วันที่ 18 มิ.ย. จำนวน 970,000 โดส
  • วันที่ 23 มิ.ย. จำนวน 593,300 โดส
  • วันที่ 25 มิ.ย. จำนวน 323,600 โดส
  • วันที่ 30 มิ.ย. จำนวน 846,000 โดส
  • วันที่ 3 ก.ค. จำนวน 590,000 โดส
  • วันที่ 9 ก.ค. จำนวน 555,400 โดส
  • วันที่ 12 ก.ค. จำนวน 1,053,000 โดส
  • วันที่ 16 ก.ค. จำนวน 505 ,700 โดส
รถขนส่งวัคซีน

ที่มาของภาพ, ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด

คำบรรยายภาพ, "วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ผลิตในประเทศไทย เพื่อประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ป้ายข้างรถขนส่งวัคซีนระบุ

ก่อนหน้านี้ แผนบริหารจัดการวัคซีนของ สธ. ที่เปิดเผยต่อสาธารณะระบุว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในไทย 61 ล้านโดส จะทยอยออกมา 7 ล็อต ด้วยกัน ได้แก่ มิ.ย. 6 ล้านโดส, ก.ค. 10 ล้านโดส, ส.ค. 10 ล้านโดส, ก.ย. 10 ล้านโดส, ต.ค. 10 ล้านโดส, พ.ย. 10 ล้านโดส และ ธ.ค. 5 ล้านโดส

หากวัดเฉพาะข้อมูล 2 ชุดนี้เท่ากับว่าแอสตร้าเซนเนก้ายังจัดส่งวัคซีนในเดือน มิ.ย. ได้ราว 5 ล้านโดส ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายของ สธ.

นอกจากนี้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล ก็ออกมาตั้งคำถามต่อแถลงของอธิบดีกรมควบคุมโรคหลายประเด็นด้วยกัน อาทิ การที่กรมควบคุมโรคไม่ได้ชี้แจงให้ชัดว่าการรับมอบวัคซีนเมื่อวันที่ 12 ก.ค. จำนวน 1,053,000 โดส ไม่ได้มาจากการผลิตโดย SBS แต่เป็นการรับบริจาคจากประเทศญี่ปุ่น หรือการที่ขณะนี้ผ่านมาเกินครึ่งเดือน ก.ค. แล้ว แต่ SBS ส่งมอบวัคซีนให้ไทยได้เพียง 1,651,100 โดสเท่านั้น ห่างจากแผน 10 ล้านโดส อยู่ถึง 8,348,900 โดส

สัญญาที่มีแถบดำ

บางส่วนจากเอกสารสัญญาระหว่างรัฐบาลไทย-แอสตร้าเซนเนก้า

ที่มาของภาพ, พรรคก้าวไกล

คำบรรยายภาพ, บางส่วนจากเอกสารสัญญาระหว่างรัฐบาลไทย-แอสตร้าเซนเนก้า

วันที่ 11 ก.ค. พรรคก้าวไกลเปิดเผยเอกสารสัญญาระหว่างรัฐบาลไทย-แอสตร้าเซนเนก้า ว่าด้วยการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าและสัญญาการจัดซื้อวัคซีน หลังจากนายวิโรจน์ยื่นเรื่องขอเอกสารจากสถาบันวัคซีนเมื่อ 3 เดือนก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ดี พรรคก้าวไกลบอกว่าเอกสารเต็มไปด้วยแถบสีดำเซ็นเซอร์ข้อความที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติชี้แจงว่าต้องปกปิดด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลที่สาม หรือบริษัทได้ขอสงวนสิทธิ์เพื่อรักษาความลับเชิงธุรกิจ

บีบีซีไทยพยายามตรวจสอบเอกสารดังกล่าว และพบว่าไม่สามารถทราบถึงเนื้อหาสำคัญได้ อาทิ ประโยคแรก ๆ ที่บอกว่า แอสตร้าเซนเนก้าตกลงจะจัดส่งวัคซีน แต่ตัวเลขโดสถูกเซ็นเซอร์เอาไว้ หรือเนื้อหาสัญญาช่วงต่อมาที่บอกว่าหากเกิดสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ เป็นผลให้แต่ละฝ่ายไม่สามารถทำตามสัญญาได้ ให้แจ้งอีกฝ่ายภายในเวลา... แต่จำนวนวันหรือเดือนนั้น ๆ ถูกคาดไว้ด้วยแถบดำ

นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว เรื่องการส่งมอบวัคซีนตัวนี้ยังต้องสะดุดอีกหลายครั้ง อาทิ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. ออกมายอมรับผ่านรายการ "เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์" ทางสถานีโทรทัศน์ MCOT ว่า "มีข้อคลาดเคลื่อนเรื่องของตัวเลขวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า" จากเดิมมีกำหนดส่งมอบวัคซีนให้ไทยจำนวน 61 ล้านโดส ภายในเดือน ธ.ค. 2564 แต่มีการขอขยายเวลาออกไป ซึ่งจำวันที่และเดือนไม่ชัดเจน แต่คาดว่าเป็นเดือน พ.ค. 2565 และย้ำว่าในสัญญาไม่มีเงื่อนเวลา มีเพียงการระบุจำนวนวัคซีนทั้งหมดไว้ ส่วนเรื่องเวลา เป็นการเสนอแผนพูดคุยกัน

ในการตอบคำถามผ่านรายการเดียวกันในวันถัดมา นพ. โอภาส อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ในสัญญาจองซื้อ 26 ล้านโดส ระบุว่าต้องส่งมอบในปี 2564 แต่พอไทยขอเพิ่มยอดไปอีก 35 ล้านโดส ก็ได้บอกให้ทางแอสตร้าเซนเนก้าส่งมอบในปี 2564 ซึ่งเขาไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ และบอกเพียงว่าต้องดูกำลังการผลิต

อย่างไรก็ดี หากดูจากที่อธิบดีกรมควบคุมโรคแถลงเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ในผังข้อมูลที่เผยแพร่ระบุว่า กรมควบคุมโรคได้รับสัญญาที่ลงนามโดยแอสตร้าเซนเนก้ากลับมาวันที่ 4 พ.ค. หลังจาก ครม. เห็นชอบให้แก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีนจากเดิม 26 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส (เพิ่มอีก 35 ล้านโดส) อย่างไรก็ดี บีบีซีไม่สามารถยืนยันได้ว่าเนื้อหาในสัญญาฉบับแก้ไขที่ลงนามโดยแอสตร้าเซนเนก้ามีการระบุถึงการเพิ่มวัคซีนอีก 35 ล้านโดสหรือไม่

ในประเด็นนี้ ส.ส. วิโรจน์ตั้งคำถามว่า เหตุใดรัฐบาลจึง "หลอกให้ประชาชนหลงเชื่อ" แผนจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ภายในปี 2564 ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วไม่มีการระบุในสัญญาว่าผู้ผลิตต้องส่งมอบวัคซีนภายในปี 2564

"จดหมายลับ" แอสตร้าเซนเนก้า-อนุทิน

สำนักข่าวอิศรา

ที่มาของภาพ, สำนักข่าวอิศรา

วันที่ 17 ก.ค. เป็นอีกวันที่ประชาชนยิ่งตั้งคำถามต่อวัคซีนยี่ห้อนี้ หลังจากสำนักข่าวอิศราออกมาเผยแพร่ "หนังสือลับ" ลงวันที่ 25 มิ.ย. 2564 โดยนายสจอร์ด ฮับเบน รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรทั่วโลก ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เขียนถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สธ.

นายฮับเบนระบุว่า คาดว่าจะผลิตวัคซีนให้ได้เดือนละ 5-6 ล้านโดส ซึ่ง "ปริมาณนี้มากเกือบ 2 เท่าของปริมาณที่เราได้เจรจาระหว่างการประชุมในวันที่ 7 ก.ย. 2563 ซึ่งทีมงานของคุณได้มีการประมาณการว่าระบบสาธารณสุขของประเทศไทยต้องการวัคซีนประมาณ 3 ล้านโดสต่อเดือน"

ในเวลาต่อมา นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สำนักข่าวอิศรา ยอมรับว่าบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ได้ทำหนังสือมาถึงตนในช่วงเวลาดังกล่าวจริง ซึ่งตนก็ได้ตอบจดหมายกลับไปทันที ยืนยันว่าประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 รายวันที่พุ่งสูงมาก ต้องการวัคซีนจำนวนมากขึ้น

เนื้อหาดังกล่าวสอดคล้องกับหนังสืออีกฉบับซึ่งสำนักข่าวอิศรานำออกมาเผยแพร่ โดยเป็นการตอบกลับของนายอนุทินเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ไปยังนายฮับเบน รมว.สธ. ระบุว่า อยากจะได้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอย่างน้อย 10 ล้านโดสต่อเดือน

อย่างไรก็ดี บีบีซีไทยไม่สามารถยืนยันเอกสารทั้งสองฉบับได้

สำนักข่าวอิศรา

ที่มาของภาพ, สำนักข่าวอิศรา

ในประเด็นนี้ นายวิโรจน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล บอกว่า "รัฐบาลต้องตอบให้ชัดเจน เพราะถ้าเอกสารทั้งหมดที่ปรากฎในข่าวของสำนักข่าวอิศรา เป็นเอกสารจริง นี่เท่ากับว่าที่ผ่านมากับแผนการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส พล.อ.ประยุทธ์ และคุณอนุทิน ได้อำพรางข้อเท็จจริงในสัญญา และโกหกหลอกลวงประชาชนมาโดยตลอด รู้แต่แรกว่าการส่งมอบวัคซีน 61 ล้านโดสภายในปี 2564 นั้นอาจจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ยังพูดยืนยันให้ประชาชนหลงเชื่อเรื่อยมา ซึ่งประเด็นข้อสงสัยทั้งหมดนี้ รัฐบาลต้องชี้แจงและยืนยันข้อเท็จจริงโดยเร็วที่สุด"

อย่างไรก็ดี ในการแถลงเมื่อวันที่ 18 ก.ค. อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงปมเรื่องจดหมายนี้ว่า เรื่องที่จะส่งมอบ 3 ล้านโดสเป็นการอ้างอิงถึงการประชุมไม่เป็นทางการ

ยอมรับผ่าน จม. เปิดผนึกส่งวัคซีนให้ไทยได้ 5-6 ล้านโดส/เดือน เพราะขาดวัตถุดิบ

วันที่ 24 ก.ค. บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เผยแพร่เอกสารที่ใช้ชื่อว่า "จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนพี่น้องชาวไทย" โดยมีนายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ลงชื่อท้ายเอกสาร

เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า พวกเราทุกคนที่แอสตร้าเซนเนก้า มีความกังวลและเป็นห่วงกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา เราได้มีการหารือกับกรมควบคุมโรคมาโดยตลอดเกี่ยวกับผลกระทบจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และแนวทางที่แอสตร้าเซนเนก้าจะสามารถช่วยสนับสนุนโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้

แอสตร้า

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายนี้ย้ำว่า ให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดกับการเร่งผลิตและส่งมอบวัคซีนที่มีคุณภาพ และจะพยายามอย่างสุดความสามารถ

จากนั้นได้อธิบายข้อมูลทางเทคนิคในการผลิต สรุปสาระสำคัญได้ว่า

  • วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นชีววัตถุ
  • เริ่มต้นด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิต จึงมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน
  • จำนวนเซลล์ที่สามารถนำไปใช้ผลิตวัคซีนในแต่ละรอบการผลิต มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตระยะแรกจากศูนย์การผลิตวัคซีนแห่งใหม่

"ถึงแม้จะมีข้อจำกัดมากมาย แต่เราคาดการณ์ว่าจะสามารถจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศไทยได้โดยเฉลี่ย 5-6 ล้านโดสต่อเดือน จนถึงขณะนี้ แอสตร้าเซนเนก้าได้ส่งมอบวัคซีนให้กับ สธ. แล้ว 9 ล้านโดส และมีกำหนดส่งมอบอีก 2.3 ล้านโดสในสัปดาห์หน้า รวมเป็นยอดส่งมอบ 11.3 ล้านโดส ณ สิ้นเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากแผนการจัดหาวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดสให้กับประเทศไทย" จดหมายเปิดผนึกของแอสตร้าเซนเนก้าระบุ

บริษัทแห่งนี้ยังให้ข้อมูลต่อไปว่า ได้พยายามเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม และมั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบวัคซีนได้มากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ยังพยายามจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจากศูนย์การผลิตของแอสตร้าเซนเนก้าทั่วโลกกว่า 20 แห่ง เพื่อส่งมอบวัคซีนเพิ่มเติมให้ไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะขาดแคลนวัคซีนป้องกันโควิด-19 การขาดแคลนวัตถุดิบ และส่วนประกอบที่จำเป็นในการผลิตวัคซีน ส่งผลให้เราไม่สามารถคาดการณ์จำนวนการผลิตที่แน่นอนได้ แต่เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำเข้าวัคซีนเพิ่มเติมมาให้กับคนไทยได้ในเดือนต่อ ๆ ไป" จดหมายเปิดผนึกของแอสตร้าเซนเนก้าระบุ

จดหมายของแอสตร้าเซนเนก้ายังอ้างถึงข้อมูลจากการใช้วัคซีนล่าสุดจากประเทศแคนาดาแสดงให้เห็นว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อรุนแรงในระดับที่ต้องเข้านอนรับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้มากถึง 87% ดังนั้นวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งกับไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และย้ำว่าพวกเราทุกคนล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การยุติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้

3 ส.ค. แอสตร้าเซนเนก้าระบุในเอกสารแถลงข่าว ตลอดเดือน ก.ค. สามารถส่งมอบวัคซีนให้จำนวน 5.3 ล้านโดส ทำให้ยอดรวมการส่งมอบวัคซีนให้ไทย ณ สิ้นเดือน ก.ค. อยู่ที่ 11.3 ล้านโดส

รัฐบาลไทยต้องจัดซื้อจากประเทศอื่น ยืม และรับบริจาค

ในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในปี 2564 ไว้ที่ 61 ล้านโดส ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2564 แต่ต่อมาได้มีการปรับลดเป้าหมายลงเหลือที่ 41.7 ล้านโดส ขณะที่ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ก.ย. แอสตร้าเซนเนก้า ส่งมอบวัคซีนให้ทางการไทยแล้วกว่า 24 ล้านโดส

นับจากประเทศไทยคิกออฟปูพรมฉีดวัคซีนทั้งประเทศเมื่อเดือน มิ.ย. รัฐบาลเคยประกาศว่าจะใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนหลัก ในเดือน มิ.ย. กรมควบคุมโรคระบุว่าจะใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนนก้าที่ 6 ล้านโดส แต่ทางบริษัทส่งมอบได้ 5.13 ล้านโดส และเป้าหมายเดือน ก.ค. 10 ล้านโดส ส่งมอบจริง 5.3 ล้านโดส

สำหรับในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ กรมควบคุมโรคเคยเปิดเผยข้อมูลไว้ว่าในเดือน ต.ค. จะมีแอสตร้าเซนเนก้าเข้ามาอีก 10 ล้านโดส เดือน พ.ย. 13 ล้านโดส และเดือน ธ.ค. 14 ล้านโดส

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยเริ่มรับการสนับสนุนวัคซีนจากประเทศอื่น ทำสัญญาแลกเปลี่ยน รวมทั้งจัดซื้อจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากฐานผลิตในประเทศอื่น รวมทั้งหมดแล้วกว่า 4.1 ล้านโดส โดยเกาหลีใต้ เป็นประเทศล่าสุดที่บริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้ไทย ตามที่ ครม. มีมติขอรับการสนุบสนุน เมื่อวันที่ 12 ต.ค.

แอสตร้าเซนเนก้า มีโรงงานเครือข่ายที่ผลิตวัคซีนกว่า 25 แห่งทั่วโลก หนึ่งในนั้นอยู่ที่ไทยคือโรงงานของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยก่อนหน้านี้ แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ยอมรับว่าช่วงเริ่มแรกเป็นช่วงที่ยากลำบากเนื่องจากต้องมีการเตรียมตัวและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นสายพานการผลิต

ความคืบหน้าล่าสุด รัฐบาลไทยและกระทรวงสาธารณสุข ได้เซ็นสัญญาซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 60 ล้านโดสสำหรับปี 2565 ไปเมื่อ 29 ก.ย. ภายใต้วงเงินประมาณ 18,000 ล้านบาท