โควิด-19: ป่อเต็กตึ๊งเพิ่มทีมเก็บศพโควิด หลังผู้เสียชีวิตในกรุงเทพฯ พุ่ง

เก็บศพโควิด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ขณะที่ปัญหาผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 "เสียชีวิตคาบ้าน" ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังไม่ได้รับการแก้ไข สังคมไทยต้องเผชิญกับเหตุสลดใจอีกขั้นหนึ่งจากกรณีที่มีผู้เสียชีวิตในที่สาธารณะ โดยศพถูกทิ้งไว้เป็นเวลาหลายชั่วโมงเพราะขาดแคลนเจ้าหน้าที่เก็บศพที่อาจติดเชื้อโควิด

การพบศพในที่สาธารณะในกรุงเทพฯ เมื่อวานนี้ (20 ก.ค.) จากการรายงานขอสื่อไทยและโพสต์เฟซบุ๊กของผู้เห็นเหตุการณ์พบว่ามีอย่างน้อย 3 ราย ทั้งหมดเป็นชาย ได้แก่ ผู้เสียชีวิตบนถนนตรอกบ้านพานถม หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร, ผู้เสียชีวิตบนบาทวิถี ถ.ราชดำเนินกลาง หน้าร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ เขตพระนคร และผู้เสียชีวิตภายในวัดสุทัศนเทพวรารามฯ เขตพระนคร

มีรายงานว่า ในจำนวนนี้ 2 รายยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนอีก 1 รายยังรอผลการตรวจหาเชื้อ

เหตุที่ทำให้หลายคนสลดหดหู่คือหลังจากผู้พบเห็นได้แจ้งเจ้าหน้าที่ไปแล้ว แต่ศพก็ยังถูกทิ้งไว้ในจุดเดิมนานหลายชั่วโมง ซึ่งตำรวจผู้รับผิดชอบท้องที่ชี้แจงว่าเหตุที่การเก็บศพล่าช้าเพราะต้องรอทางมูลนิธิกู้ภัยซึ่งมีทีมงานที่มีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อจำกัด

การพบศพในที่สาธารณะที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดโควิด-19 นี้ทำให้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนความล้มเหลวในการบริหารจัดการโรคระบาดของรัฐบาล ซึ่งในการแถลงข่าวประจำวันของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) วันนี้ก็ไม่ได้พูดถึงประเด็นเรื่องผู้เสียชีวิตตกค้างในบ้านหรือที่สาธารณะ แต่รายงานว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาทุบสถิติอีกครั้งที่ 13,002 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 108 ราย

เก็บศพโควิด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ป่อเต็กตึ๊งแจงเหตุเก็บศพช้า

หน่วยงานที่ออกมาชี้แจงถึงปัญหาการเก็บศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในวันนี้ (21 ก.ค.) คือมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งซึ่งได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องการเก็บศพที่พบบนถนนบริเวณบ้านพานถมว่า หลังจากได้รับแจ้งให้เข้าดำเนินการเก็บศพชายที่เสียชีวิต ได้ส่งทีมเข้าตรวจสอบเบื้องต้นซึ่งแพทย์ได้ชันสูตรเบื้องต้นและลงความเห็นว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 จึงต้องให้ทีมเก็บศพชุดพิเศษที่ทำหน้าที่เก็บศพผู้เสียชีวิตจากโควิดโดยเฉพาะหรือที่เรียกว่า "ทีมสก็อต" มาดำเนินการ

แต่ขณะนั้นทีมสก็อตมีภารกิจเก็บศพในพื้นที่ สภ.คันนายาว ซึ่งปกติการเก็บศพผู้ป่วยโควิดต้องใช้เวลานานและความรอบคอบเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและเจ้าหน้าที่ จึงยังไม่สามารถไปเก็บศพที่วัดบวรฯ ได้ทันที

"ในแต่ละวันมูลนิธิฯ ดำเนินการเก็บศพโควิดเป็นจำนวนมากหลายศพตามที่ได้รับแจ้ง และให้ความสำคัญกับศพไร้บ้านหรือศพที่นอนตายอยู่ในที่สาธารณะเป็นอันดับแรกอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีศพผู้ตายให้ดำเนินการอยู่ในหลากหลายพื้นที่ ดังนั้นจึงมีเรื่องของเวลาในการเดินทางเข้ามาเป็นตัวแปรในการทำงานด้วย" มูลนิธิฯ ระบุในแถลงการณ์ซึ่งทำให้เห็นสถานการณ์ความรุนแรงของโควิดในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างชัดเจน

"ปัจจุบันมูลนิธิฯ มีทีมเฉพาะกิจดำเนินการเก็บศพผู้เสียชีวิตโควิด-19 จำนวน 2 ทีมดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง ในเขตกรุงเทพมหานคร และจากสถานการณ์จำนวนผู้ตายมีมากขึ้น มูลนิธิฯ กำลังดำเนินการจัดตั้งทีมเฉพาะกิจเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้สามารถดำเนินการเก็บส่งได้รวดเร็วและในจำนวนเพิ่มมากขึ้น"

Lockdown

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

วันแรกของ "ล็อกดาวน์ขั้นสูงสุด" ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทำ "นิวไฮ"

พญ.อภิสมัย ศรีรงสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งวันนี้ (21 ก.ค.) เป็นวันที่ 2 หลังจากมาตรการล็อกดาวน์ขั้นสูงสุดในพื้นที่ 13 จังหวัดรวมทั้งกรุงเทพฯ ที่ให้ประชาชนงดออกนอกเคหสถานตลอดทั้งวัน ยกเว้นกรณีจำเป็น และเป็นวันแรกที่มาตรการจำกัดการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนมีผลบังคับใช้ โดยมีข้อมูลสำคัญดังนี้

  • พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 13,002 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 11,922 ราย เรือนจำ 1,049 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 31 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 439,477 ราย หากนับเฉพาะการระบาดระลอกเดือน เม.ย. 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 410,614 ราย
  • ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 131,411 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 3,786 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 879 ราย
  • จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ (2,921 ราย) สมุทรสาคร (932 ราย) นนทบุรี (661 ราย) สมุทรปราการ (656 ราย) และชลบุรี (636 ราย)
  • มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 108 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ คือ 40 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 3,610 ราย คิดเป็น 0.82% และหากนับเฉพาะระลอกเม.ย. อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 0.86% และ 38% เสียชีวิตภายใน 6 วันนับแต่ทราบผลติดเชื้อ
  • ศบค. รายงานด้วยว่าผู้เสียชีวิตบางรายตรวจพบว่าติดโควิดหลังจากเสียชีวิตแล้ว บางรายเสียชีวิตขณะรอผลตรวจ บางรายเสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล
  • ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยง/โรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคไต อ้วน หลอดเลือดสมอง โรคปอด เป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว
  • ข้อมูลการเข้ารับบริการวัคซีนโควิด-19 ระหว่าง 28 ก.พ. - 20 ก.ค. มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 14.8 ล้านโดส ในจำนวนนี้ 11.2 ล้านคนเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก
เดินทางกลับภูมิลำเนา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ผู้ป่วยจากกรุงเทพฯ กระจายไปต่างจังหวัด

พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยโควิดในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งมาจากการเดินทางของผู้ป่วยจากพื้นที่เสี่ยงกลับภูมิลำเนา ทำให้แพร่เชื้อไปยังครอบครัวและชุมชน

โรงพยาบาลในต่างจังหวัดหลายแห่งรายงานว่ารับจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก ศบค.จึงขอให้ผู้ป่วยที่ต้องการกลับไปรักษาในต่างจังหวัด แจ้งความประสงค์และประสานงานเรื่องการเคลื่อนย้ายกับเจ้าหน้าที่และโรงพยาบาล อีกทั้งการเดินทางกลับตามลำพังอาจทำให้อาการทรุดได้

ศบค. สั่งปิดสถานที่เพิ่มเติม

พญ.อภิสมัยกล่าวว่าเพื่อให้การควบคุมโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น ศบค. มีคำสั่งให้ปิดสถานที่เพิ่มเติมในพื้นที่ 13 จังหวัด ทำให้ขณะนี้สถานที่ที่ต้องปิดบริการ ได้แก่

  • สนามกีฬาทุกชนิด
  • สระน้ำเพื่อเล่นกีฬา กิจกรรมทางน้ำ
  • ลานกีฬา
  • ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม
  • ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ หอศิลป์
  • ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดเอกชน บ้านหนังสือ
  • พิพิธภัณฑ์ แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน
  • ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน
  • ร้านเสริมสวย ร้านตัดเล็บ แต่งผม ร้านทำเล็บ ร้านสัก
  • สวนสาธารณะ
  • สถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และสถานที่ลักษณะคล้ายกัน
  • สถานที่ประกอบกิจการอาบอบนวด
  • สถานที่ประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร
  • สนามชนไก่ ซ้อมชนไก่
ปิดสถานประกอบการ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

  • สนามชนโค สนามปลากัด สนามแข่งลักษณะคล้ายกัน
  • สนามมวย รร.สอนมวย
  • สนามม้า
  • สนามแข่งขันทุกประเภท
  • โต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด
  • สถานที่เล่นโบว์ลิง ตู้เกม
  • ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต
  • โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ โรงละคร
  • สถานที่แสดงมหรสพ
  • สวนน้ำ สวนสนุก
  • สนามเด็กเล่น เครื่องเด็กเล่น
  • สวนสัตว์ สถานที่จัดแสดงสัตว์
  • สถานที่เล่นสเก็ต โรลเลอร์เบลด และอื่น ๆ ในลักษณะคล้ายกัน
  • ฟิตเนส
  • รร.สอนศิลปะการต่อสู้
  • สถาบันลีลาศ
  • ห้องประชุม จัดเลี้ยง สถานที่อื่น ๆ
  • ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา สนามพระ
  • สถานที่เสริมความงาม คลิกนิกเสริมความาม สถานที่ประกอบกิจการสุขภาพ ทั้งสปา นวด

ผอ. สถาบันวัคซีนแถลงขอโทษที่หาวัคซีนไม่ทันสถานการณ์

นพ. นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติกล่าวขอโทษประชาชนระหว่างการแถลงข่าวประจำวันของกระทรวงสาธารณสุขในวันนี้ (21 ก.ค.) โดยยอมรับว่าจัดหาวัคซีนไม่ได้ตามจำนวนที่คิดว่าควรจะได้และไม่ทันต่อสถานการณ์

"กราบขออภัยพี่น้องประชาชน ที่ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แม้ว่าจะพยายามเต็มที่แล้ว แต่ก็จัดหาวัคซีนได้ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์" ผอ. สถาบันวัคซีนแห่งชาติกล่าว

นับเป็นครั้งแรกที่ นพ. นครเอ่ยปากขอโทษประชาชนต่อสาธารณะ หลังจากที่ผ่านมาเขายืนยันมาตลอดว่าการดำเนินการจัดหาวัคซีนเป็นไปอย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ รวมทั้งยังตอบโต้คำวิจารณ์ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในประเด็นเรื่องการจัดหาวัคซีนล่าช้าแบบ "แทงม้าตัวเดียว" อย่างหนักแน่น

"ทั้งหมดเป็นเรื่องของข้อจำกัดที่มี...เป็นสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน รวมทั้งสถานการณ์การกลายพันธุ์ของไวรัส ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะคาดหมายได้ล่วงหน้า ที่ทำให้การระบาดของโรครวดเร็วและรุนแรง" นพ. นครกล่าว

ผอ. สถาบันวัคซีน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนปีหน้าจะเร่งรัดจัดหาวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่สามารถรองรับไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ และอยู่ในการพิจารณาเข้าร่วมกับโครงการ COVAX เพียงแต่ยังไม่มีการลงนามในการจัดหาวัคซีนร่วมกัน โดยมีเป้าหมายได้รับวัคซีนในปี 2565 และเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนรายอื่น ๆ ด้วย

คำพูด ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

ฉีดวัคซีนไขว้แล้วกว่า 84,000 คน

นพ. โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงชี้แจงกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.พงศ์ภัค ศรัทธา วัย 39 ปี ที่บ้านพักใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวานนี้ (20 ก.ค.) หรือหนึ่งวันหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนแบบสลับยี่ห้อ หลังจากได้รับวัคซีนของซิโนแวคเป็นเข็มแรก ทำให้สามีของ น.ส.พงศ์ภัคเรียกร้องให้มีการชันสูตรศพเนื่องจากข้องใจว่าเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนแบบไขว้หรือไม่

นพ. โสภณกล่าวว่าผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง มีภาวะอ้วน ดัชนีมวลกาย (บีเอ็มไอ) อยู่ที่ 31 มีประวัติการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ได้แก่ ซิโนแวค เข็มแรก เมื่อ 18 มิ.ย. และแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อ 19 ก.ค. ขณะนี้ได้ส่งร่างให้แพทย์ได้ตรวจชันสูตรที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้า คาดว่าผลออกมาเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สรุปว่ามีความเกี่ยวข้องหรือไม่กับวัคซีน หากมีข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วจะนำมาชี้แจงต่อไป

สำหรับการฉีดแบบไขว้วัคซีน นพ.โสภณ บอกว่า มีผู้ฉีดไปแล้ว 84,000 คน แต่รายนี้เป็นรายแรกที่เสียชีวิต เมื่อดูจากเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตเทียบกับการฉีดวัคซีนชนิดเดียวที่ฉีดมาในไทยตั้งแต่เดือน มี.ค. พบว่ามีอัตราเสียชีวิตใกล้เคียงกัน

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วกว่า 14.8 ล้านโดส มีรายงานการเสียชีวิต 229 ราย คิดเป็นอัตราส่วน 16 ต่อ 1 ล้านคน ทั้งนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาข้อมูลโดยละเอียดแล้ว ไม่พบว่ามีสาเหตุมาจากการฉีดวัคซีนโดยตรง แต่มีโรคร่วมที่พบบ่อย คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ส่วนอื่น ๆ อยู่ระหว่างการพิจารณา

ด้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้บรรยายถึงการให้วัคซีนสลับชนิดว่า มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ชี้ว่าใช้เวลา 5 สัปดาห์ การฉีดแบบไขว้วัคซีนจะทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นดีขึ้น

Nurse holds syringe

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

"เข็มที่ 1 ซิโนแวค วัคซีนเชื้อตาย สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันบีเซลล์ (ภูมิคุ้มกันที่สร้างในเม็ดเลือดขาวหุ้มไม่ให้ไวรัสเข้าไปติดเชื้อในเซลล์) แต่กระตุ้นทีเซลล์ (เม็ดเลือดขาวที่มีภูมิคุ้มกันจัดการฆ่าเซลล์) ที่มีการติดเชื้ออาจไม่ดีนัก ถ้าเช่นนั้นจึงปรับโดยเอาวัคซีนที่กระตุ้นทีเซลล์ คือ ไวรัลเวกเตอร์อย่างแอสตร้าเซนเนก้าเข้ามา ถ้าเราทำแบบนี้ได้คือเข็ม 1 เป็นซิโนแวค 3 สัปดาห์ ตามด้วย แอสตร้าเซนเนก้า เบ็ดเสร็จใช้เวลา ประมาณ 5 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันจะขึ้นดีขึ้น"

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ระบุว่า "พบว่าภูมิคุ้มกันสูง และน่าจะสูงพอที่ครอบคลุมตัวสายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งลดความรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิต"

"ผมอยากย้ำนะครับว่า การจับคู่ระหว่าง ซิโนแวคเชื้อตาย กับแอสตร้าเซนเนก้า ไวรัลเวกเตอร์ มีงานวิจัยในต่างประเทศ ซึ่งเวลาวิจัยการจับคู่เขาจะดูสองตัวชี้วัด ประสิทธิภาพและความปลอดภัย งานวิจัยในต่างประเทศออกมาทั้งคู่ คือ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นกว่าการฉีดอย่างเดียว และมีความปลอดภัยสูง"

ในส่วนของข้อห้ามของการฉีดวัคซีนสำหรับกลุ่มคนต่าง ๆ นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ได้แตกต่างจากการฉีดวัคซีนประเภทเดียวกันข้อห้ามในการฉีดวัคซีนโควิดมีน้อยมาก ยกเว้นผู้ที่ทราบว่าแพ้วัคซีนตัวแรกที่ฉีด ถ้าใครมีอาการแพ้ตัวแรกเข็มที่สองไม่ควรฉีดชนิดเดิมซ้ำ ส่วนกรณีอื่น เช่น ผู้สูงอายุ กลุ่มโรคเสี่ยง และตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งครรภ์ที่เกิน 12 สัปดาห์ ไม่ได้เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีนไขว้

เกี่ยวกับเรื่องผลข้างเคียง นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ก่อนเอาสูตรนี้เข้ามา มีผู้ฉีดวัคซีนไขว้ ประมาณ 1,000 กว่าราย และไม่ได้มีรายงานเข้ามา ขณะนี้น่าจะเป็นตัวเลขหลายพันหรือเป็นหมื่นราย ข้อมูลในเวลานี้ในประเทศไทย คือ ปลอดภัย อาการไม่พึงประสงค์ไม่น่าจะเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องเก็บตัวเลขเพิ่มขึ้นอีก จนรวมทั้งรายที่เสียชีวิตเพื่อให้สังคมมั่นใจการใช้วิธีฉีดแบบไขว้

"จนถึงวันนี้ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการฉีดวัคซีนจะแตกต่างจากที่เกิดจากฉีดวัคซีนประเภทเดียว"