ศบค. ประกาศล็อกดาวน์เข้มข้น 13 จังหวัด ขอให้ ปชช. งดออกจากเคหสถานตลอดวัน

ตำรวจตั้งด่าน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ตำรวจตั้งด่านตรวจผู้สัญจรไปมาหลังจากมีการประกาศเคอร์ฟิวระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. 2564

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงชี้แจงมาตรการตามข้อกำหนดฉบับที่ 28 ระบุเป็น "มาตรการล็อกดาวน์ขั้นสูงสุด" ในพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม รวมกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขอให้ประชาชนงดออกจากเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็นในเวลากลางวัน ยกเว้นเพื่อจัดหาอาหาร ยา พบแพทย์ รับวัคซีน และอาชีพจำเป็น มีผลพรุ่งนี้ (20 ก.ค.)

"ให้งดภารกิจที่ต้องออกเดินทางออกนอกเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น นอกจากเคอร์ฟิวแล้ว ในช่วงเวลากลางวันขอให้ท่านงดการเดินทางให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้" นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าววันนี้ (19 ก.ค.)

สำหรับกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นให้เดินทางออกนอกเคหสถานในเวลากลางวันได้ ได้แก่ การจัดการเครื่องอุปโภคบริโภค อาหาร ยา เวชภัณฑ์ การพบแพทย์ รับบริการสาธารณสุข รักษาพยาบาล รับวัคซีน หรืออาชีพที่มีความจำเป็นต้องปฏฺิบัติงานที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้

ส่วนมาตรการเคอร์ฟิวในตอนกลางคืน ยังงดออกจากบ้านในเวลา 21.00-04.00 น. เช่นเดียวกับประกาศฉบับก่อนหน้านี้ แต่ขยายระยะเวลาไปอีก 14 วันนับจากวันที่ 20 ก.ค.

โฆษก ศบค. ระบุว่า มาตรการนี้เป็นข้อสรุปสาระสำคัญจากที่ประชุม ศปก.ศบค. ชุดที่ พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการปฏฺิบัติการ โดยเป็นรายละเอียดของมาตรการตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) ที่ประกาศเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา เพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอีก 3 จังหวัด รวมเป็น 13 จังหวัด

พื้นที่ 13 จังหวัด ที่ถูกบังคับใช้มาตรการล่าสุดนี้ ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และจังหวัดที่เพิ่มมา ได้แก่ อยุธยา ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

Nope

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ในพื้นที่ 13 จังหวัด จะมีการตั้งด่านตรวจและจุดสกัดของทหาร ตำรวจ ภายในพื้นที่จังหวัดเหล่านี้ และด่านตรวจเพื่อควบคุมการเดินทางเข้าออก 6 จังหวัด กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยใช้ชุดตรวจที่ชื่อว่า "ชุดตรวจเข้มแข็ง" กระจายไปในชายขอบของ 6 จังหวัดภาคกลาง

"ความไม่สะดวกสบายที่จะเกิดขึ้นตอนนี้เพื่อลดการเดินทางของท่าน ขอให้อยู่ในเคหสถาน มาตรการเหล่านี้ ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร จะช่วยกันทำงานและเข้มข้นมากขึ้น"

ในช่วงเวลาระหว่างวันในพื้นที่ 13 จังหวัด นพ.ทวีศิลป์ บอกว่าจะมีความยุ่งยากในการเดินทางข้ามพื้นที่ใน 14 วันนี้

"คาดการณ์ได้เลยครับว่า สิ่งที่ท่านอยากจะสะดวกสบายจะไม่เกิดขึ้น แล้วก็จะทำให้ท่านต้องตัดสินใจใหม่ที่จะไม่ออกจากบ้าน นี่คือสิ่งที่จะเกิดตั้งแต่วันนี้"

สำหรับบุคคลและกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นเรื่องการงดออกนอกเคหสถาน 6 กลุ่ม ได้แก่

  • เจ้าหน้าที่ทางด้านการสาธารณสุข
  • การขนส่ง เพื่อประโยชน์ด้านอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภค ผลผลิตทางการเกษตร น้ำมัน เชื้อเพลิง ไปรษณีย์ พัสดุ สิ่งพิมพ์ สินค้าเพื่อส่งออก นำเข้า
  • การขนย้ายประชาชน
  • การให้บริการประชาชน
  • การประกอบอาชีพจำเป็น ไม่สามารถทำงานนอกสถานที่ได้
  • อื่น ๆ ที่ได้รับอนุญาตเฉพาะรายของเจ้าหน้าที่

ข้อกำหนดสำหรับประชาชนทั่วไปใน 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม

  • ห้ามออกนอกเคหสถานช่วงเวลา 21.00-04.00 น.
  • เลี่ยง จำกัดหรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น สำหรับการเดินทางในกรณีที่จำเป็นที่สามารถกระทำได้ เช่น การเดินทางเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การพบแพทย์ รับวัคซีน การรักษาพยาบาล หรือความจำเป็นในการปฏิบัติงานหรือประกอบอาชีพที่ไม่สามารถทำงานนอกสถานที่ได้ ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้ความช่วยเหลือในการกระจายสิ่งอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่ประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
  • ให้ทำงานจากที่บ้าน 100% ทั้งรัฐและเอกชน ยกเว้นที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณสุข การควบคุมโรค ระบบสาธารณูปโภค การจราจร บรรเทาสาธารณภัย การรักษาความสงบ หากจำเป็นต้องเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคุล
  • ให้ใช้เอกสารรับรองการเดินทาง หรือแสดงคิวอาร์โค้ดที่ด่านตรวจเข้าออก สำหรับเอกสารรับรองการเดินทาง ให้ขอได้ที่เจ้าหน้าที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือลงทะเบียนผ่านไทยชนะ ณ ด่านตรวจ หรือเว็บไซต์หยุดเชื้อเพื่อชาติ
  • จำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะทั่วประเทศให้เหลือไม่เกิน 50% ของความจุ
  • ห้ามรวมกลุ่มกิจกรรมเกิน 5 คน
รถเมล์

ที่มาของภาพ, Thai News PIx

คำบรรยายภาพ, ตามมาตรการฉบับที่ 28 ระบบขนส่งมวลชนจะจำกัดจำนวนผู้โดยสารให้เหลือแค่ 50% ของความจุ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการเดินทางของประชาชน

ตอนนี้ "ขอให้งด" ต่อไปอาจต้อง "ห้าม"

พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือสมช ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) อธิบายเพิ่มเติมเรื่องการงดออกนอกเคหสถาน ตามข้อกำหนดฉบับที่ 28 ว่า แบ่งเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก-ช่วงเวลาเคอร์ฟิว ระหว่างเวลา 21.00 - 04.00 น. เป็นการบังคับสั่งห้ามการออกนอกที่พักอาศัย ส่วนที่สอง-ช่วงนอกเวลาเคอร์ฟิวให้งดและหลีกเลี่ยงการออกนอกเคหสถาน ยกเว้นมีความจำเป็นในบางกิจกรรม

"ช่วงนี้ขอใช้คำว่า 'ให้' ไปก่อนนะครับ ให้งด ให้หลีกเลี่ยง เพราะว่าเมื่อถึงมาตรการที่เข้มข้นต่อไป อาจจะจำเป็นต้องใช้คำว่า 'ห้าม' เมื่อถึงคำว่าห้ามแล้วเนี่ย คงมีกิจการหรือกิจกรรม ที่ได้รับการยกเว้นน้อยกว่านี้มาก" พล.อ. ณัฐพลกล่าว

เลขา สมช. กล่าวว่าหลังจากนี้จะมีการประเมินสถานการณ์เพื่อปรับมาตรการทุก 7 วัน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้น ผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง ศบค. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการรองรับในทุกสถานการณ์ไว้แล้ว ส่วนจะไปถึงการใช้มาตรการปิดเมืองในระดับเดียวกับที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนใช้หลังเกิดการระบาดในช่วงแรกหรือที่สือมวลชนเรียกว่า "อู่ฮั่นโมเดล" หรือจะไปถึงขั้นการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบหรือไม่นั้นต้องฟัง สธ. ว่าจะประเมินอย่างไร ซึ่งทาง ศบค. มีความพร้อมในทุกกรณี

"สำหรับฟูลล็อกดาวน์นั้น เราไม่ได้มองตัวเลขใดตัวเลขหนึ่ง เรามองหลายปัจจัย ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนสถานพยาบาลที่มีอยู่ แล้วก็ปัจจัยอื่น ๆ ในแง่เศรษฐกิจด้วย มองในทุกมิตินะครับ ไม่ได้มองในแง่ด้านใดด้านหนึ่งด้านเดียว" พล.อ. ณัฐพลกล่าว

เลขา สมช. ยังพูดถึงข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคมบางส่วนที่ต้องการให้รัฐบาลไทยจำกัดจำนวนการส่งออกวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดย บ. สยามไบโอไซเอนซ์ในประเทศไทย เพื่อให้ไทยมีวัคซีนโควิดอย่างเพียงพอว่า ช่วงเช้าวันนี้ (19 ก.ค.) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เรียกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว. สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือในเรื่องนี้ เพื่อปรับแผนการจัดหาวัคซีนรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ และจำนวนวัคซีนที่เข้ามาไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยนายอนุทินจะกลับไปพิจารณาและกลับมารายงานนายกฯ อีกครั้งหนึ่ง

เผยแบบจำลองยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดกว่า 3 หมื่นรายต่อวัน หากไม่ใช้มาตรการ

นพ. ทวีศิลป์กล่าวว่า "ขอความร่วมมือสูงสุด" จากประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการตามที่ได้ประกาศไว้ โดยอ้างถึงแบบจำลองคาดการณ์ผู้ติดเชื้อโดย รศ.ดร.นวลจันทร์ สิงห์คราญ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล ที่ใช้ข้อมูลจนถึงวันที่ 17 ก.ค. แสดงให้เห็นว่าหากไม่มีมาตรการใด ๆ เลย จำนวนผู้ติดเชื้ออาจพุ่งไปถึง 31,997 รายต่อวัน แต่หาก "ทำดีที่สุด" ผู้ติดเชื้อจะลดลงมาอยู่ที่ 9,018-12,605 รายต่อวัน

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยาระบุว่าหากการให้บริการวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมาย จะเริ่มเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อในทิศทางขาลงในช่วงปลาย ส.ค. ถึงต้น ก.ย. แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น อาจมีผู้ติดเชื้อเกินกว่า 15,000 ราย และหากแย่ที่สุดอาจสูงกว่า 20,000 ราย

แคมป์คนงานก่อสร้าง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, แคมป์คนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ เป็นจุดแรก ๆ ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา (10-16 ก.ค.) พบมาถึงกว่า 60% ของตัวอย่างที่ตรวจ

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยในรอบ 24 ชม. จากการรายงานของ ศบค. มีดังนี้

  • พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 11,784 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 11,672 ราย ติดเชื้อในเรือนจำ 100 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 415,107 ราย
  • หากนับเฉพาะการระบาดระลอก เม.ย. 2564 พบผู้ติดเชื้อ 386,307 ราย
  • ผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 122,097 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 3,595 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 856 ราย
  • ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 81 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ ม.ค. 2563 อยู่ที่ 3,422 ราย คิดเป็น 0.82% และหากนับเฉพาะระลอก เม.ย. อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 0.86%
  • ข้อมูลการเข้ารับบริการวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ 28 ก.พ. ถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 18 ก.ค. ฉีดไปแล้ว 14,298,596 โดส ในจำนวนนี้เป็นการฉีดเข็มแรกในประชาชน 10,850,099 ราย

สายพันธุ์เดลตาระบาดสูงกว่า 60%

ในการแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่า จากการตรวจหาสายพันธุ์ไวรัสโคโรนาจากผู้ติดเชื้อ 3,340 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10-16 ก.ค.2564 พบสายพันธุ์เดลตาถึง 62.6% รองลงมาสายพันธุอัลฟา 34.1% และเบตา 3.3%

"ขณะนี้สายพันธุ์อินเดีย หรือเดลตา แซงสายพันธุ์อัลฟาหรือสายพันธุ์อังกฤษเดิมโดยสิ้นเชิงแล้ว" นพ.ศุภกิจกล่าวและบอกว่า โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีสัดส่วนสายพันธุ์เดลตาสูงถึง 76.5% แล้ว จากจำนวนการตรวจ 1,745 ตัวอย่าง

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชี้ว่า แนวโน้มการพบสายพันธุ์เดลตาเพิ่มสูงตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งพบแล้วใน 71 จังหวัด และกรุงเทพฯ

สำหรับสายพันธุ์เบตา ยังคงพบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีการพบเพิ่มเติม 91 ราย ใน จ.นราธิวาส รวมถึงพบเพิ่มในปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง ส่วนในภาคอีสานพบจำนวนน้อย คือใน จ.บึงกาฬ พบเพิ่ม 3 ราย เป็นผู้สัมผัสจากกรณีที่เคยรายงานไปแล้วว่ามีผู้ติดเชื้อเป็นคนงานที่กลับมาไต้หวัน ซึ่งตรวจไม่เจอในตอนแรก

สำหรับการจำแนกสายพันธุ์ที่พบในไทย ข้อมูลการเฝ้าระวังระลอกเดือน เม.ย. จนถึง ณ วันที่ 16 ก.ค. จำแนกสายพันธุ์ได้ ดังนี้

  • สายพันธุ์อัลฟา พบ 12,406 ราย คิดเป็น 66.68%
  • สายพันธุ์เดลตา พบ 3,672 ราย คิดเป็น 31.06%
  • สายพันธุ์เบตา พบ 382 ราย คิดเป็น 2.06%