การออกแบบสถาปัตยกรรมช่วยชีวิตคนคิดสั้นที่สะพานโกลเดนเกตได้อย่างไร

Kevin Hines posing with the Golden Gate Bridge in the background

ที่มาของภาพ, Kevin Hines

คำบรรยายภาพ, เควิน ไฮนส์ เป็นผู้รอดชีวิตจากคิดสั้นกระโดดสะพานโกลเดนเกต ตอนนี้เขารณรงค์ให้สะพานแห่งนี้มีระบบยับยั้งการฆ่าตัวตาย
  • Author, เฟอร์นานโด ดูอาร์เต
  • Role, บีบีซี เวิลด์เซอร์วิส

สะพานโกลเดนเกต (Golden Gate Bridge) ในนครซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ คือหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างอันโด่งดังที่สุดในโลก ทว่านับแต่เปิดใช้งานในปี 1937 สะพานยาว 2.7 กิโลเมตรแห่งนี้ยังกลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนจำนวนมากใช้กระโดดปลิดชีพตัวเองด้วย

ชื่อเสียงเชิงลบดังกล่าวกำลังจะกลายเป็นอดีต เมื่อมีการติดตั้งตาข่ายนิรภัยไว้ด้านใต้สะพาน ซึ่งกลุ่มผู้เกี่ยวข้องหลายคน รวมถึงผู้รอดชีวิตจากการฆ่าตัวตายที่สะพานแห่งนี้บอกว่า การออกแบบทางสถาปัตยกรรมใหม่นี้จะเป็น "ตัวแปรสำคัญ" ในการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายที่นี่

"สะพานนี้จะกลายเป็นประทีปนำทางสำคัญที่สุดในการป้องกันการฆ่าตัวตายทั่วโลก" เควิน ไฮนส์ บอกกับบีบีซี

ไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะพูดว่า ชายวัย 41 ปีผู้นี้ได้อุทิศชีวิตที่สองของเขาให้แก่สะพานโกลเดนเกต

เมื่อปี 2000 ตอนอายุได้ 19 ปี ไฮนส์รอดชีวิตจากการพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดจากสะพานโกลเดนเกตที่ความสูง 75 เมตรลงสู่ผืนน้ำอันหนาวเหน็บของมหาสมุทรแปซิฟิก

ข้อมูลจาก Golden Gate Bridge Highway and Transportation District หน่วยงานกำกับดูแลพื้นที่บริเวณสะพานโกลเดนเกตระบุว่า นับแต่สร้างแล้วเสร็จเมื่อ 85 ปีก่อน มีคนใช้สะพานแห่งนี้เป็นสถานที่ปลิดชีพตัวเองไปกว่า 1,800 คน

หลังจากไฮนส์ฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บสาหัสที่เกิดจากความพยายามฆ่าตัวตายครั้งนั้น เขาก็อุทิศตนเป็นนักรณรงค์ป้องกันการฆ่าตัวตาย อีกทั้งร่วมมีส่วนผลักดันให้มีการติดตั้งตาข่ายนิรภัยที่สะพานแห่งนี้

ความล่าช้าคร่าชีวิต?

แผนการการติดตั้งตาข่ายนิรภัยที่สะพานโกลเดนเกตได้รับการอนุมัติมาตั้งแต่ปี 2008 ทว่าการก่อสร้างเพิ่งจะได้เริ่มขึ้นในอีก 10 ปีต่อมา และการทำงานก็เผชิญกับความล่าช้าจากปัญหาต่าง ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะโครงการนี้จะใช้งบประมาณราว 76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การประเมินล่าสุดพบว่าค่าใช้จ่ายจริงได้พุ่งทะลุหลัก 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นผลพวงมาจากการระบาดของโควิด-19 และปัญหาด้านการบริหารจัดการ

Artistic impression of the Golden Gate suicide barrier

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การติดตั้งตาข่ายนิรภัยจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2023

คาดว่าการติดตั้งตาข่ายนิรภัยจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. 2023

เควิน ไฮนส์ แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง "น่าเศร้า" แต่เขาอยากมุ่งความสนใจไปยังเรื่องที่ว่า โครงการซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Suicide Deterrent System (ระบบยับยั้งการฆ่าตัวตาย) นี้กำลังจะกลายเป็นความจริง หลังจากมีการถกเถียงถึงเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950

"น่าเศร้าที่มันใช้เวลานานมาก แต่ผมก็ดีใจที่มันกำลังจะแล้วเสร็จ ผมอยากมองไปยังผลลัพธ์ที่ดีที่จะเกิดขึ้นเมื่อมันเสร็จสมบูรณ์มากกว่า" ไฮนส์ กล่าว

ที่ผ่านมา การยับยั้งการฆ่าตัวตายที่สะพานโกลเดนเกตส่วนใหญ่ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย และกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ

Successful police intervention in 1941

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นับแต่เปิดใช้งานในปี 1937 ก็มีคนพยายามฆ่าตัวตายที่สะพานโกลเดนเกตเรื่อยมา

เควิน บริกส์ ตำรวจสายตรวจทางหลวงแคลิฟอร์เนียที่ปลดเกษียณแล้ว คือหนึ่งในผู้มีประสบการณ์ด้านนี้โดยตรง และเคยช่วยผู้คนกว่า 200 คนไม่ให้กระโดดสะพานโกลเดนเกต เขาเชื่อว่าตาข่ายนิรภัยนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้งานด้านป้องการกันฆ่าตัวตายที่นี่

เขาบอกกับบีบีซีว่า "มันน่าหงุดหงิดมากที่ได้เห็นความล่าช้าของโครงการนี้"

"แต่ละปีมีคนกว่า 20 คนที่กระโจนสู่ความตายจากสะพานแห่งนี้ แต่หวังว่าตัวเลขนี้จะกลายเป็นศูนย์จากการติดตั้งตาข่ายนิรภัย" เขากล่าว

ตัวเลขน่าเศร้า

ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สายตรวจ รวมทั้งกลุ่มอาสาสมัคร เช่น Bridgewatch Angels มักออกตรวจตราที่สะพานโกลเดนเกตในช่วงวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วาเลนไทน์ (14 ก.พ.) หรือวันคริสต์มาสอีฟ (24 ธ.ค.) ซึ่งเป็นช่วงที่หลายคนเลือกจะจบชีวิตตัวเอง โดยในปี 2021 พวกเขาสามารถโน้มน้าวใจไม่ให้คนกระโดดสะพานได้ถึง 198 ราย

ทางการระบุว่า ในปีดังกล่าวมีคนกระโดดสะพานสำเร็จ 25 คน แต่พบศพเพียง 21 ราย เนื่องจากกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก

คาดกันว่า 98% ของผู้กระโดดจากสะพานโกลเดนเกตจะไม่รอดชีวิต

เชื่อว่าสะพานโกลเดนเกตเป็นสถานที่ที่คนใช้จบชีพตัวเองกว่า 1,800 คน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เชื่อว่าสะพานโกลเดนเกตเป็นสถานที่ที่คนใช้จบชีพตัวเองกว่า 1,800 คน

ปัจจุบันสะพานแห่งนี้มีเพียงรั้วเตี้ย ๆ ที่กั้นไม่ให้คนพลัดตกจากทางเดินบนสะพาน แม้ตาข่ายนิรภัยซึ่งทำจากเหล็กและติดตั้งอยู่เบื้องล่างทางเดิน 6 เมตรจะไม่ช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากการกระโดดลงจากสะพาน แต่ก็ป้องกันไม่ให้คนตกลงสู่ทะเล

เพชฌฆาตคร่าชีวิตคนทั่วโลก

องค์การอนามัยโลกประเมินว่าแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายกว่า 700,000 คนทั่วโลก โดยเฉลี่ยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ในทุก 40 วินาที

สำหรับประเทศไทย อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 - 2563 สูงขึ้นทุกปี โดยตัวเลขล่าสุดพบว่ามีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,800 คนต่อปี

ตัวเลขจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เฉลี่ยแล้วคนไทยมีความพยายามฆ่าตัวตายราว 53,000 คนต่อปี และคนที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จมีแนวโน้มที่จะพยายามกลับมาฆ่าตัวตายซ้ำอีก

สถิติจากกรมสุขภาพจิตบ่งชี้ถึงปัญหาการฆ่าตัวตายในไทยช่วงปี พ.ศ. 2560-2564 ว่ากลุ่มวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนวัยทำงานถึง 4 เท่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ ระบุว่าเฉพาะปี 2564 มีกลุ่มวัยเรียน อายุ 15-24 ปี ฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 439 คน

ตาข่ายนิรภัยจะใช้ได้ผลหรือไม่

ฝ่ายสนับสนุนโครงการติดตั้งตาข่ายนิรภัยนี้ชี้ว่า สิ่งปลูกสร้างชื่อดังทั่วโลก เช่น หอไอเฟล ต่างมีการติดตั้งเครื่องกั้นเพื่อป้องกันคนกระโดดฆ่าตัวตาย จึงทำให้มีรายงานผู้พยายามฆ่าตัวตายและผู้ได้รับบาดเจ็บน้อยกว่าที่สะพานโกลเดนเกต

Dayna Whitmer holds a portrait of her son under one of the Golden Gate Bridge safety nets

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เดย์นา ไวต์เมอร์ สูญเสียลูกชายจากการกระโดดสะพานโกลเดนเกตในปี 2017 และร่วมรณรงค์ให้มีการติดตั้งระบบความปลอดภัยที่นี่

พอล มูลเลอร์ หัวหน้า Bridge Rail Fund องค์การนอกภาครัฐที่วิ่งเต้นให้มีการติดตั้งระบบความปลอดภัยที่สะพานโกลเดนเกตเปิดเผยกับบีบีซีว่า โครงการติดตั้งตาข่ายนิรภัยที่สะพานโกลเดนเกตใช้แนวคิดการออกแบบเดียวกับระบบที่ติดตั้งในกรุงเบิร์น ของสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 1998 ซึ่งช่วยลดตัวเลขการฆ่าตัวตายลงได้อย่างมาก

แต่ฝ่ายวิจารณ์หลายคนเชื่อว่า ตาข่ายนิรภัยจะทำให้คนที่คิดฆ่าตัวตายมองหาสถานที่อื่นก่อเหตุแทน โดยอ้างอิงผลการศึกษาที่สะพานแห่งหนึ่งในนครโทรอนโต ของแคนาดา ที่หลังจากการติดตั้งเครื่องกั้นทำให้ตัวเลขคนฆ่าตัวตายที่มี 9 รายต่อปีลดลงเกือบเป็นศูนย์ แต่ตัวเลขการฆ่าตัวตายลักษณะเดียวกันกลับไปเพิ่มขึ้นที่สะพานแห่งอื่นแทน

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 1978 ของ ดร.ริชาร์ด เซเดน จิตแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ศึกษากลุ่มคนที่ได้รับการช่วยเหลือไม่ให้กระโดดจากสะพานโกลเดนเกตระหว่างปี 1937-1971 พบว่าคนเหล่านี้จำนวน 515 คน มีผู้ที่กลับไปฆ่าตัวตายซ้ำจนสำเร็จเพียง 25 คน

A man looks at the view from the Golden Gate Bridge

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ปัจจุบันมีเพียงรั้วเตี้ย ๆ ที่กั้นไม่ให้คนพลัดตกจากทางเดินของสะพาน

ข้อมูลจากสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์แห่งมารินเคาน์ตีที่ชันสูตรศพผู้เสียชีวิตที่สะพานโกลเดนเกตบ่งชี้ว่า 60% ของคนที่กระโดดสะพานแห่งนี้มีอายุต่ำกว่า 45 ปี

ดร.ชาร์ลอตต์ โธเดลเลียส นักอาชญาวิทยาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชาลเมอร์ส ในสวีเดน ได้ศึกษาถึงอิทธิพลทางจิตวิทยาของเครื่องกั้นต่อความพยายามฆ่าตัวตาย

เธอพบว่า อุปกรณ์นี้มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการยับยั้งคนหนุ่มสาวที่พยายามฆ่าตัวตายที่สะพาน ถนน และสถานีรถไฟ

"ฉันได้สังเกตว่าคนหนุ่มสาวก่อเหตุฆ่าตัวตายด้วยวิธีที่ต่างจากผู้ใหญ่ พวกเขาทำไปด้วยความคิดชั่ววูบ ทั้งที่จริงพวกเขาอาจไม่ต้องการจะตาย และต้องการให้มีอะไรมาหยุดพวกเขา"

เสียงในหัว

ข้อมูลดังกล่าวดูจะสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเควิน ไฮนส์ ในวันที่ 25 ก.ย. ปี 2000 ซึ่งเขานั่งรถประจำทางจากย่านใจกลางเมืองซานฟรานซิสโกไปยังสะพานโกลเดนเกต

Kevin Briggs

ที่มาของภาพ, Ascend Books

คำบรรยายภาพ, เควิน บริกส์ อดีตตำรวจสายตรวจเคยช่วยผู้คนกว่า 200 คนไม่ให้กระโดดสะพานโกลเดน เขาเชื่อว่าตาข่ายนิรภัยนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้งานด้านป้องการกันฆ่าตัวตายที่นี่

ตอนนั้นโรคไบโพลาร์ (bipolar disorder) หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วที่เขาเป็นอยู่ได้กำเริบอย่างหนัก ทำให้เขาได้ยินเสียงในหัวที่ "บอกให้เขาไปตาย"

"ถ้าตอนนั้นมีคนถามผมว่าผมโอเคไหม หรืออะไรทำนองนั้น ผมคงจะเล่าเรื่องทุกอย่างให้เขาฟังและขอให้เขาช่วยผม" ไฮนส์กล่าว

แต่ตอนนั้นคนที่เข้าไปพูดกับเขาเพียงคนเดียวคือนักท่องเที่ยวหญิงคนหนึ่งที่ขอให้ชายหนุ่มวัย 19 ปีถ่ายรูปให้เธอ หลังจากนั้น ไฮนส์ได้กระโดดข้ามรั้วเตี้ย ๆ ลงสู่ท้องทะเลเบื้องล่าง

เช่นเดียวกับผู้รอดชีวิตที่มีอยู่ไม่กี่คน ไฮนส์บอกว่าในห้วงเวลา 4 วินาทีที่ร่างกำลังดิ่งลงสู่พื้นน้ำ เขารู้สึกเสียใจขึ้นมาในทันทีกับการคิดสั้นของตัวเอง

"ตาข่ายคงจะช่วยหยุดยั้งไม่ให้ผมตกลงสู่ทะเล แต่ผมก็คิดว่าผมอาจไม่คิดกระโดดตั้งแต่แรกถ้ามีตาข่ายนิรภัยติดตั้งอยู่"

"ผมคิดว่าเมื่อคนรู้ว่าพวกเขาไม่สามารถตายได้จากการกระโดดสะพานโกลเดนเกต พวกเขาก็คงเลิกพยายามฆ่าตัวตาย"

ไฮนส์ยังคงคิดจะกลับไปที่สะพานโกลเดนเกตอีกครั้ง อันที่จริงเขาเคยย้อนกลับไปที่นี่แล้วหลายครั้ง ครั้งแรกคือวาระครบรอบ 1 ปีที่เขากระโดดและรอดชีวิตมาได้ แต่เขาหวังว่าในการกลับไปคราวหน้า สะพานแห่งนี้จะดูแตกต่างไปจากเดิม

"ผมไม่มีปัญหากับสะพานโกลเดนเกต" ไฮนส์บอก "มันคืองานศิลปะอาร์ตเดโคชิ้นเอกที่ไม่ปลอดภัย"

"แต่เรากำลังทำให้มันปลอดภัย และนั่นคือสิ่งวิเศษที่สุด"