ไอทีวี ยุติธุรกิจสื่อไปแล้ว ยังถือเป็นสื่อมวลชนหรือไม่

ภาพถ่ายภายในสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ภาพถ่ายภายในสถานีโทรทัศน์ไอทีวี
  • Author, วัชชิรานนท์ ทองเทพ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ปมถือหุ้น บมจ. ไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

หลังจากมีผู้ร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบว่า นายพิธา เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่ รวมถึงให้ตรวจสอบด้วยว่าคุณสมบัติของหัวหน้าพรรค จะส่งผลต่อการเซ็นรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) หรือไม่

แม้ว่าท่าทีของพรรคก้าวไกลผ่านการสัมภาษณ์ผ่านสื่อ ดูเหมือนไม่ได้มองว่าปมดังกล่าวจะส่งผลกระทบใด ๆ แต่สังคมจับตาอย่างใกล้ชิดว่า กรณีถือหุ้นไอทีวี จะกลายเป็นเหตุการณ์ซ้ำรอยเดียวกันกับคดีถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2562 หรือไม่

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการอิสระด้านการเงินและการลงทุน บอกกับบีบีซีไทยว่า นับแต่คดีเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อของอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จนถึงคดีต่าง ๆ ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา พวกเขาได้เห็นพัฒนาการเชิงบวกในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่อาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการอำนวยความยุติธรรม มากขึ้น

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การถือหุ้นจำนวน 42,000 หุ้น ของนายพิธาใน บมจ. ไอทีวี ถือเป็นกรณีศึกษาและบททดสอบของกระบวนการยุติธรรมของไทยอีกครั้ง พร้อมกับชี้ชะตาอนาคตการเมืองของไทยเช่นกัน

"ไอทีวี" ยังมีสถานะเป็น "สื่อมวลชน" หรือไม่

ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกกับบีบีซีไทยว่า บมจ. ไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนมาตั้งแต่ปี 2550 และได้ถอนชื่อออกจากตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2557 สาเหตุที่ยังคงสถานะเป็นบริษัท เพราะยังมีการฟ้องร้องอยู่กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) จากการที่ สปน. ยกเลิกสัญญาสัมปทานที่ทำกับ บมจ. ไอทีวี

บีบีซีไทยตรวจสอบข้อมูลจาก แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2552 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้ระบุถึงเหตุการณ์วันที่ 6 มี.ค. 2550 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ยุติออกอากาศ ณ เวลา 24.00 น. ของวันที่ 7 มี.ค. 2550 และ สปน. ได้มีหนังสือลงวันที่ 7 มี.ค. 2550 บอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ และแจ้งให้ไอทีวี ดำเนินการชำระหนี้ และ "ส่งมอบทรัพย์สินที่บริษัทฯ มีไว้ใช้ในการดำเนินกิจการตามสัญญาร่วมงานฯ คืนให้ สปน. ภายในเวลาที่ สปน. กำหนด" ซึ่ง

การบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าว เป็นเหตุให้ไอทีวีจำเป็นต้องหยุดดำเนินการธุรกิจสถานีโทรทัศน์ไอทีวีนับแต่นั้นมา

ป้ายโฆษณาไอทีวี

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

นอกจากนี้ ไม่เพียงทรัพย์สินดังกล่าว แต่ยังรวมถึงคลื่นความถี่ยูเอชเอฟ ที่ไอทีวีเคยใช้อยู่เดิม รวมทั้งกิจการสถานีโทรทัศน์ภายใต้ชื่อสถานีทีไอทีวี ให้แปรรูปกิจการไปเป็นทีวีสาธารณะ ภายใต้ พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2551 เนื่องจากบรรดาทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งสิทธิ หน้าที่ และภาระผูกพันของบริษัท ตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ ได้ตกเป็นของรัฐตามบทเฉพาะกาล มาตรา 56 ของ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว

"จึงไม่น่าจะมีการถกเถียงอีกแล้วว่า ณ วันที่ นายพิธาสมัคร ส.ส. ไอทีวีเป็นสื่อ (มวลชน) หรือเปล่าในเมื่อทรัพย์สินทั้งหมดถูกโอนถ่ายไปเป็นส่วนหนึ่งของไทยพีบีเอสในปัจจุบันแล้ว" น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงินการลงทุน บอกกับบีบีซีไทย

อย่างไรก็ตาม บีบีซีไทยตรวจสอบจากรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ในหัวข้อวาระที่ 8.1 พบว่า ข้อพิพาทระหว่างไอทีวี และ สปน. ยังคงไม่ได้ข้อสิ้นสุด นับแต่วันที่ 14 ม.ค. 2559 ที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 1/2559 ที่สรุปว่า สปน. บอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ กับไอทีวี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ สปน. ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่ไอทีวีเป็นจำนวนเงินราว 2,890 ล้านบาท และไอทีวีต้องชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนหรือค่าตอบแทนส่วนต่างพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ สปน. เป็นจำนวนเงินเท่ากัน จึงทำให้ต่างฝ่ายไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กัน

แต่ สปน. ไม่เห็นพ้องด้วย จึงยื่นฟ้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวต่อศาลปกครองกลางในวันที่ 29 เม.ย. 2559 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 620/2559

แม้ว่าศาลปกครองกลางจะยกคำร้องของ สปน. ไปแล้วในวันที่ 17 ธ.ค. 2563 เนื่องจากวินิจฉัยว่าคดีไม่มีเหตุตามกฏหมายที่จะให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ แต่ สปน. ก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 15 ม.ค. 2564 ซึ่งปัจจุบันคดีดังกล่าว ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

ในเอกสารดังกล่าวซึ่งมีทั้งหมด 14 หน้า ได้ระบุถึงการสอบถามความคืบหน้าของคดีดังกล่าวจากผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง โดยที่ประชุมให้คำตอบว่า "บริษัทคาดว่าน่าจะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดภายในปี 2566... หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง จะถือว่าคดีถึงที่สุด"

ยุติกิจการแล้ว แต่มีรายได้ จะตีความอย่างไร

คำถามของผู้ถือหุ้นรายหนึ่งที่เข้าร่วมการประชุมด้วยตัวเอง ซึ่งปรากฎในเอกสารหน้าสุดท้ายของรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ว่า "ไอทีวี มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่"

คำตอบที่ปรากฎในรายงานระบุว่า "ปัจจุบัน บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัถตุประสงค์ของบริษัท และยังมีการส่งงบการเงิน และยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ"

น.ส. สฤณี อธิบายว่า ในส่วนของการดำเนินกิจการอยู่ และยังส่งงบการเงินนั้น ต้องพิจารณาให้ละเอียดเพิ่มขึ้น เพราะการคงสภาพบริษัทอาจเกิดขึ้นสืบเนื่องจากข้อพิพาทที่เป็นคดีกับ สปน. ที่ยังคงดำเนินอยู่ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นหากว่าคดีสิ้นสุดลง

เธอได้ยกตัวอย่างกรณีของผู้ถือหุ้นรายหนึ่งที่เข้าประชุมด้วยตัวเองที่ถามประธานบริษัทว่า "หากคดีความทั้งหมดจบสิ้นลง บริษัทจะมีปันผลหรือไม่ มีแผนดำเนินการธุรกิจต่อไปอย่างไร จะเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกหรือไม่ หรือมีแผนจะชำระบัญชีคืนเงินให้ผู้ถือหุ้นหรือไม่"

ทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งสิทธิ หน้าที่ และภาระผูกพันของบริษัทไอทีวี ตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ ตกเป็นของรัฐตามบทเฉพาะกาล มาตรา 56 ของ พ.ร.บ. ทีวีสาธารณะ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งสิทธิ หน้าที่ และภาระผูกพันของบริษัทไอทีวี ตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ ตกเป็นของรัฐตามบทเฉพาะกาล มาตรา 56 ของ พ.ร.บ. ทีวีสาธารณะ

คำตอบที่ประธานบริษัทฯ มีสาระสำคัญคือ ต้องรอผลคดีให้สิ้นสุดก่อน จากนั้นบริษัทฯ จะพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมและคำนึงถึงประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็น การจ่ายเงินปันผล การดำเนินธุรกิจหลักอะไรต่อไป หรือ การชำระบัญชี

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงสถานะทางการเงินของไอทีวี ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 ไอทีวี มีหนี้สินรวมราว 2,892 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการประมาณการค่าอนุญาตให้ดำเนินการส่วนต่างค้างจ่ายและดอกเบี้ยตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นยังคงติดลบเป็นเงินราว 1,626 ล้านบาท

นัยของแหล่งที่มาของรายได้สำคัญอย่างไร

น.ส. สฤณี และ ผศ.ดร. ปริญญา เห็นตรงกันในประเด็นที่ว่า การพิจารณาแหล่งที่มาของรายได้เป็นสิ่งสำคัญต่อการตีความว่า กิจการใด ๆ นั้นเป็นสื่อหรือไม่ โดยทั้งสองได้อ้างอิงถึงคดีการถือครองหุ้นโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-19/2563

นักวิชาการด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยกตัวอย่าง กรณี บ. ทาโร่ทาเลนท์ จำกัด ของ น.ส. ภาดาท์ วรกานนท์ อดีต ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ แม้ว่าบริษัทดังกล่าวจะมีการระบุถึงวัตถุประสงค์กิจการที่ว่า ประกอบกิจการโรงพิมพ์ พิมพ์หรือรับจ้างพิมพ์ ออกหนังสือพิมพ์ วารสาร หนังสือ และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศทุกภาษา

แต่ปรากฏว่า เมื่อพิจารณางบประจำปี (รายได้และกำไร) บริษัท ไม่มีรายได้ใด ๆ จากการให้บริการ อีกทั้งเมื่อพิจารณารายได้บริษัทในปี 2560 แล้ว เป็นรายได้ที่มาจากการประกอบกิจการฝึกอบรม ซึ่งไม่ได้มาจากการประกอบกิจการสื่อแต่อย่างใด

ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าบริษัทดังกล่าวมิได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมีติข้างมาก ว่า น.ส. ภาดาท์ มิได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชน

อีกกรณีหนึ่งคือ กรณี นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส. จากพรรคภูมิใจไทย แม้ว่าบริษัท สุรินทร์ ซิตี้ จำกัด ของเขาจะมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ทุกประเภท แต่เขาชี้แจงว่า บริษัทฯ ประกอบกิจการธุรกิจด้านกีฬาอาชีพ การแข่งกีฬา และหมายเหตุประกอบงบการเงินระบุว่า ประกอบกิจการกีฬาฟุตบอล ฟุตซอล ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า บริษัทดังกล่าวไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

เมื่อเทียบเคียงกับกรณีดังกล่าวแล้ว ในส่วนประเด็นเรื่องรายได้ที่เกิดขึ้นในงบการเงินปี 2565 ของไอทีวี มีอยู่ 20.5 ล้านบาทนั้น น.ส. สฤณี ระบุว่า ทั้งหมดล้วนเป็นผลตอบแทนจากเงินลงทุนและดอกเบี้ยรายรับ ที่บริษัทฯ ได้ลงทุนไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะถูกบอกเลิกสัญญากับ สปน.

เอกสารชี้แจงงบกำไรขาดทุนของ บมจ. ไอทีวี

ที่มาของภาพ, บมจ. ไอทีวี

คำบรรยายภาพ, เอกสารชี้แจงงบกำไรขาดทุนของ บมจ. ไอทีวี

"รายได้ปีละ 20 กว่าล้านบาทก็มาจากดอกเบี้ยของตราสารหนี้ พูดกันง่าย ๆ คือ รายได้ไม่ได้มาจากกิจกรรมหารายได้จากองค์กร และเป็นข้อมูลที่ไม่ลึกลับ เป็นข้อมูลสาธารณะ ในงบการเงินในงบประจำปีก็เขียนไว้ว่า หยุดดำเนินกิจการ มีบริษัทย่อยหนึ่งแห่ง แต่ก็ยุติกิจการเช่นกัน" เธออธิบาย

ผศ.ดร. ปริญญา ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า กรณีของไอทีวีในขณะนี้ ก็ไม่นับว่าเป็นสื่อ เพราะไม่มีกิจการสื่อแล้ว รายได้ที่มาก็มาจาก "ดอกเบี้ยและเงินลงทุน" เท่านั้น

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการลงทุนทั้งสอง สอดคล้องกับข้อมูลงบการเงินรวมของไอทีวี ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2552 ที่บันทึกไว้ว่า ในปี 2552 ไม่มีรายได้จากค่าบริการแล้ว มีเพียงผลตอบแทนจากเงินลงทุนในตราสารหนี้และดอกเบี้ย รวมราว 33 ล้านบาทเท่านั้น

พิธาถือหุ้นที่มีมูลค่าติดลบกว่าครึ่งแสนบาท

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาการถือหุ้นของนายพิธาแล้ว น.ส. สฤณี มองว่า หัวหน้าพรรคก้าวไกลถืออยู่ราว 42,000 หุ้น แต่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.0035% ของหุ้นทั้งหมดเท่านั้น

ขณะที่ ผศ.ดร. ปริญญา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาจากหนี้สินในส่วนของผู้ถือหุ้นยังคงติดลบ 1,626 ล้านบาท ส่งผลทำให้มูลค่าหุ้นที่นายพิธาถืออยู่ก็คิดเป็นมูลค่าติดลบด้วย คือ ติดลบ 56,910 บาท

อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดนายพิธาจึงไม่ขายหุ้นออกไปก่อนที่จะเข้ามาสู่เส้นทางการเมือง น.ส. สฤณี ตอบบีบีซีไทยในฐานะผู้ลงทุนรายย่อยทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทไอทีวีว่า สามารถอธิบายด้วยเหตุผลสองประการคือ

  • หากถือหุ้นในบริษัทที่ถูกให้ออกจากตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากบริษัทขาดสภาพคล่อง การขายหุ้นที่ถือนั้นในตลาด ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป
  • หากไอทีวียังคงประกอบกิจการอยู่จริง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจูงใจให้มีคนสนใจเข้ามาซื้อหุ้นต่อ เพราะจะประเมินมูลค่าหุ้นอย่างไร

"ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ต่อให้ผู้ถือหุ้นอยากขายหุ้นออกไป ใครจะอยากซื้อและจะซื้อในราคาเท่าไหร่" เธอตั้งคำถาม

พิธาโอนหุ้นไอทีวีให้แก่ทายาทอื่นแล้ว

ต่อมาในวันที่ 6 มิ.ย. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกลโพสต์เฟซบุ๊กอธิบายถึงเหตุผลของการโอนหุ้นไอทีวีให้แก่ทายาทรายอื่น โดยระบุว่า ไม่ใช่เพราะหลีกหนีความผิด แต่หวั่นเกรงว่า บริษัท ไอทีวี อาจจะถูกทำให้คืนชีพมาเป็นสื่อมวลชนอีก หลังจาก ITV ไม่ได้เผยแพร่ออกอากาศตั้งแต่ผลของการบอกเลิกสัญญาวันที่ 7 มีนาคม 2550 มีผลใช้บังคับแล้ว เนื่องจากพบข้อพิรุธหลายประการ เช่น เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 มีการตั้งคำถามของผู้ถือหุ้นบางรายว่า บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่

ดังนั้นเขาจึงได้หารือกับทายาทถึงประเด็นดังกล่าวและให้จัดการแบ่งมรดกหุ้นไอทีวี แก่ทายาทอื่นไปโดยสิ้นเชิง

ผมมีความมั่นใจว่า ก่อนที่ผมจะดำเนินการโอนหุ้น ITV นั้น บริษัท ITV ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใดๆ ผมมั่นใจข้อเท็จจริงในอดีต แต่ข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ผมไม่อาจคาดหมายได้ว่า บริษัท ITV จะถูกทำให้ฟื้นคืนชีพเป็นสื่อมวลชนอีกครั้งหรือไม่ การโอนหุ้นให้แก่ทายาทอื่นจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการโอนหุ้นเพราะหลีกหนีความผิดแต่อย่างใด

สัดส่วนถือหุ้นสำคัญแค่ไหน

ประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่และเกี่ยวข้องกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็น ส.ส. และ มาตรา 160 ที่กำหนดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีไว้ว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามาตรา 98 ด้วย นั่นเท่ากับว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี "ห้ามถือครองหุ้นสื่อ" ด้วยนั้น

น.ส. สฤณี ได้ยกตัวอย่างกรณีล่าสุดในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา 3 คดี โดยพิจารณาคดีลงในรายละเอียดถึง 3 องค์ประกอบ คือ เป็นเจ้าของกิจการสื่อจริงหรือไม่ ถือครองหุ้นหรือไม่ และสัดส่วนการถือครองหุ้นสามารถมีอำนาจครอบงำสื่อมวลชนได้หรือไม่

แต่ละคดีที่ศาลฏีกาได้มีคำวินิจฉัยอย่างชัดเจน เช่น คดีของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ กกต. เขต 2 จ.นครนายก ชี้ว่าการถือหุ้นในบริษัท เอไอเอส 200 หุ้น ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ เพราะเอไอเอสลงทุนกับ 2 บริษัท คือ บริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) และบริษัท เยลโล่ เพจเจส คอมเมอรส์ จํากัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชน

น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน นักเขียน และนักแปล

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงินและการลงทุน นักเขียน และนักแปล

แต่ว่าศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายชาญชัยไม่ใช่เจ้าของหรือมีจํานวนหุ้นในจํานวนมาก เขาจึงไม่มีอำนาจสั่งการให้บริษัท เอไอเอส เผยแพร่ข้อความที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเขาและพรรคการเมืองของเขา หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของเขาหรือพรรคการเมืองของเขาได้ จึงมีคำสั่งคืนสิทธิให้

ส่วนอีกสองคดีที่ปรากฏเป็นข่าวในเว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา คือ คดีของนายชานน นันทะภา ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เขต 5 จ.อุดรธานี พรรคแนวทางใหม่ ที่ถูกตัดสิทธิ เพราะศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าครบองค์ประกอบ คือ บริษัทยังประกอบกิจการสื่อมวลชน ถือหุ้นเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของมูลค่าหุ้นทั้งหมด และในงบการเงินมีการบันทึกรายได้จากกิจการสื่อมวลชน

อีกคดีเป็นของ ร.ต.อ. คฑาวุธ แสนวา ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง พรรคเสรีรวมไทย ที่ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้อง กกต. ที่ยื่นให้ถอนชื่อของเขาจากการรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หลังจากศาลฏีกาพิเคราะห์ว่า บริษัทสื่อของเขา หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แคนนี่ มีเดีย ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อหลังจากใบอนุญาตเดิมได้สิ้นสุดลงในวันที่ 3 พ.ค. 2559 และมีรายได้ดอกเบี้ยรับจากการให้หุ้นส่วนยืมเงินเท่านั้น แม้ว่าเขาจะเป็นหุ้นส่วนของกิจการดังกล่าวเป็นเงิน 50,000 บาทก็ตาม

"จากสามคดีนี้ ฉันมองว่าเป็นพัฒนาการอีกระดับหนึ่ง เพราะว่าคดีของคุณชาญชัยนั้น ศาลฎีกาพิจารณาไปจนถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่เพียงพิจารณาเพียงว่าถือหุ้นหรือไม่ถือหุ้นเท่านั้น เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้คือ ไม่ต้องการให้ผู้สมัครเลือกตั้งใช้สื่อของตัวเองในการหาเสียง ที่ไม่ยุติธรรมกับคู่แข่ง" เธออธิบาย

ตีความตามตัวอักษร หรือเจตนารมณ์สำคัญกว่ากัน

หากพิจารณาถ้อยคำในคำพิพากษาของศาลฎีกา ลงวันที่ 2 พ.ค. ในกรณีของนายชาญชัยซึ่งเป็นผู้ร้องจะเห็นได้ชัดว่า ศาลยึดเจตนารมณ์กฎหมายเป็นสำคัญ

"...การที่ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จำนวนเพียง 200 หุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิสังการให้บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องและพรรคการเมืองของผู้ร้อง หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของผู้ร้องและพรรคการเมืองของผู้ร้อง เนื่องจากผู้ร้องมิใช่เจ้าของหรือมีจำนวนหุ้นในจำนวนมากพอที่จะสามารถกระทำเช่นนั้น การตีความบทบัญญัติของกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร ให้ผู้ร้องมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะจองบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) เพียง 200 หุ้น ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ..."

ผศ.ดร. ปริญญา กล่าวย้ำว่า นักกฎหมายไม่ดูแค่ตัวหนังสือ เพราะตัวหนังสือเขียนกันในอดีต แต่ถูกใช้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต การตีความกฎหมาย ต้องคิดถึงความมุ่งหมายของการมีกฎหมายข้อนั้น แต่ไม่ได้ตีความจนผิดไปเกินกว่าตัวหนังสือ

ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

"หลักในการตีความ(กฎหมาย) เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ต้องดูความมุ่งหมายของกฎหมายข้อนั้น จึงจะเกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมืองที่มีความเห็นต่างกัน ที่สำคัญคือ การเกี่ยวข้องกับมาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และได้แสดงออกมาแล้วผ่านการเลือกตั้ง" เขากล่าว

น.ส. สฤณี กล่าวทิ้งท้ายว่า ในยุคที่สื่อเปลี่ยนแปลงอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะหลังจากการเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ กฎหมายที่กำหนดความเป็นเจ้าของสื่ออาจจะดูล้าสมัยไปแล้ว

"การเขียนกฎหมายที่ควบคุมนักการเมืองไม่ให้เป็นเจ้าของสื่อ อาจจะมีผลอยู่บ้างในยุคสื่อเก่าที่เป็นสื่อทางเดียว เช่น สื่อวิทยุและสื่อโทรทัศน์ ซึ่งคนที่จะดำเนินธุรกิจนี้ต้องมีทุนและความตั้งใจในการใช้สื่อสร้างอิทธิผลต่อความคิดสังคมได้ แต่ไม่ใช่ยุคที่มีสื่อที่หลายหลายอย่างเช่นในปัจจุบัน"