สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด ชี้พิธา-ก้าวไกล แก้ ม.112 “ล้มล้างการปกครอง”

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง นั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย ก่อนมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายหาเสียง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมสั่งยุติการกระทำ

“คดีล้มล้างการปกครอง” มีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เป็นผู้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. (ขณะนั้น) ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรค ก.ก. ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง พร้อมสั่งให้เลิกการกระทำ การแสดงความคิดเห็น การพูด หรือการดำเนินการใด ๆ ในอนาคต

นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นคำวินิจฉัยว่า การพิจารณามีการรับฟังความคิดเห็นจากพยานนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ที่มีความเป็นกลาง 4 คน ได้แก่ ดร.รณกร บุญมี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้ง ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ อัยการสูงสุด ศาลยุติธรรม และศาลอาญาอีก 4 แห่ง พร้อมกับคำแถลงการณ์ปิดคดีของผู้ถูกร้องทั้งสอง (พิธา และพรรค ก.ก.)

ประธานศาลรัฐธรรมนูญมอบหมายให้ นายปัญญา อุดชาชน, นายจิรนิติ หะวานนท์, นายอุดม รัฐอมฤต และนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงแรกชี้ว่า ข้อโต้แย้งของนายพิธา และพรรค ก.ก. ที่ระบุว่า คำร้องของนายธีรยุทธ เป็นความคิดเห็นของบุคคลที่เป็นการคาดคะเน ไม่ยืนยันข้อเท็จจริงนั้นตกไป แต่เห็นว่าคำร้องและเอกสารประกอบพร้อมด้วยพยานเอกสาร และพยานวัตถุมีความชัดเจนเพียงพอ สำหรับการสู้คดี อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายหรือร่างกฎหมาย ซึ่งมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดหน้าที่ให้เข้ามาตรวจสอบการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง โดยมิได้บัญญัติยกเว้นการกระทำใดไว้เป็นการเฉพาะ

“พระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศ”

วินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองการปกครองของประเทศให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ คือ ระบอบการปกครองประชาธิปไตย และ พระมหากษัตริย์ โดยหลักการนี้ บัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 และบัญญัติในทำนองเดียวกันไว้ในรัฐธรรมนูญต่อมาทุกฉบับ

บทบัญญัตินี้ เป็นการคุ้มครอง มิให้มีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่จะส่งผลเป็นการบั่นทอน หรือทำลายพื้นฐานของ และสั่นคลอนคติรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมทรามหรือต้องสิ้นสลายไป

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ที่มาของภาพ, สํานักงานศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดอัตราความผิดและกำหนดอัตราโทษแก่ผู้กระทำความผิดที่ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ

สอดคล้องกับการที่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งในรัฐธรรมนูญ สืบเนื่องมาจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ โบราณราชประเพณี นิติประเพณี ซึ่งดำรงอยู่ในสถานะที่ผู้ใดจะละเมิดหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ ไม่ได้

“พระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศ จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐ หรือสถานะตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้” นายจิรนิติ หะวานนท์ อ่านคำวินิจฉัย

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้ระบุถึง เนื้อหาของร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ในส่วนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) รวม 44 คน เสนอยื่นแก้ไขความผิดอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 โดยวินิจฉัยไล่เรียงสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่ถือเป็นความมุ่งหมายตามข้อกล่าวหาล้มล้างการปกครองฯ

ชี้ร่างแก้ ม.112 ก้าวไกล เจตนาแยกสถาบันฯ กับความเป็นชาติไทย

ความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ อ้างถึงร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ประมวลกฎหมายอาญา เพื่อแก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรค ก.ก. มีเนื้อหาเพื่อแก้ไข มาตรา 112 จากเดิมเป็นหมวด 1 ซึ่งเป็นผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร ให้เป็นลักษณะ 1/2 ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการ

ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า ประมวลกฎหมาย ภาค 2 แบ่งลักษณะความผิดเป็น 13 ลักษณะ โดยจัดเรียงตามลักษณะการกระทำความผิดในด้านต่าง ๆ เช่น ความผิดที่เป็นการการกระทำที่กระทบต่อรัฐ การกระทำที่กระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แม้นายพิธา และพรรค ก.ก. อ้างว่า ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้กำหนดลำดับศักดิ์ของหมวดหมู่และลักษณะกฎหมายไว้ แต่ประมวลกฎหมายอาญาในแต่ละลักษณะ บัญญัติลำดับความสำคัญ และความร้ายแรงในแต่ละหมวดไว้ในแต่ละมาตรา ซึ่งหมวด 1 อยู่ในลักษณะ 1 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐและราชอาณาจักร

สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ที่บัญญัติรับรองว่าประเทศไทยมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่า “การกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นความผิดต่อความมั่นคงของประเทศด้วย”

พรรคก้าวไกล

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

"สถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงต่อประเทศ เพราะพระมหากษัตริย์ กับประเทศไทย หรือชาติไทย ดำรงอยู่คู่กัน เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นศูนย์รวมจิตใจในชาติ และธำรงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในประเทศ การกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของประเทศด้วย"

ศาลรัฐธรรมนูญ ยังวินิจฉัยด้วยว่า การที่นายพิธา และพรรค ก.ก. เสนอให้ย้ายมาตรา 112 ออกจากความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ถือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ และทำให้เป็นความผิดที่ร้ายแรงในระดับเดียวกันกับลักษณะอื่น

"การที่ผู้ถูกร้องทั้งสอง เสนอให้มาตรา 112 ออกจากลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักรเป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวัง ให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดที่ไม่มีความสำคัญ และความร้ายแรงในระดับเดียวกัน กับความผิดในหมวด 1 ของลักษณะ 1 และไม่ให้ถือว่าเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศอีกต่อไป มีเจตนามุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ" นายจิรนิติ หะวานนท์ อ่านคำวินิจฉัย

มุ่งลดสถานะการคุ้มครองพระมหากษัตริย์

ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยเนื้อหาร่างแก้ไขมาตรา 112 ของพรรค ก.ก. เป็นรายมาตรา โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29 /2555 ซึ่งวางหลักเกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 112 ไว้ว่า การกระทำความผิดฐานดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ มีลักษณะของการกระความผิดที่มีความร้ายแรงมากกว่าการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทต่อบุคคลธรรมดา จึงไม่มีบทบัญญัติ เหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษไว้

แต่การเสนอของนายพิธา และพรรค ก.ก. เสนอให้ผู้กระทำความผิด สามารถพิสูจน์เหตุยกเว้นความผิด หรือยกเว้นโทษได้ หากเป็นการติชม แสดงความเห็นโดยสุจริต รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อดำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด (ร่างมาตรา 6 เพิ่มเนื้อความในมาตรา 135/7) และถ้าผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ได้ว่าข้อหาที่เป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ (มาตรา 135/8) กระบวนการพิสูจน์ความจริงในศาลที่ผู้กระทำความผิดยกขึ้นต่อสู้ จะก่อให้เกิดการพาดพิงอันนำมาสู่การหมิ่นพระเกียรติได้

"การพิจารณาของศาลยุติธรรมจะต้องมีการสืบพยานตามข้ออ้าง ข้อเถียง ข้อต่อสู้ระหว่างคู่ความในคดี การพิสูจน์เหตุดังกล่าวจำต้องพาดพิงพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้ข้อความดังกล่าวกระจายสู่สาธารณะ เป็นการเสื่อมพระเกียรติ" นายจิรนิติ หะวานนท์ แถลงคำวินิจฉัย

ความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อการเสนอให้ความผิดมาตรา 112 สามารถยอมความได้ ตามมาตรา 139/1 และวรรคสอง ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์และถือว่าเป็นผู้เสียหาย ถือเป็นการลดสถานะการคุ้มครองพระมหากษัตริย์

“การเสนอให้ยอมความได้ มาตรา 139/1 และ วรรคสอง ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์และถือว่าเป็นผู้เสียหาย มุ่งหมายให้การกระทำความผิดตามมาตรา 112 กลายเป็นผิดในเรื่องส่วนพระองค์ของสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น เป็นการลดสถานะ ไม่ให้คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ให้รัฐไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวโดยตรง และทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นคูขัดแย้งกับประชาชน และจะเป็นการขัดหรือแย้งกับมาตรา 6 ส่งผลให้การกระทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่ใช่การกระทำความผิดที่กระทบต่อชาติและประชาชนทั้งที่การกระทำความผิดดังกล่าวย่อมเป็นการทำร้ายจิตใจของชนชาวไทย ที่มีความเคารพเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะทรงเป็นประมุขและศูนย์รวมความเป็นชาติที่รัฐต้องคุ้มครองและเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา"

โรม ก้าวไกล

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

ใช้สถาบันกษัตริย์หวังผลคะแนนเสียงเลือกตั้ง

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า แม้การเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะเป็นหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร และร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่ได้รับการบรรจุในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม แต่การเสนอร่างกฎหมายนี้ดำเนินการโดย สส.ของพรรคผู้ถูกร้อง (ก.ก.) เพียงพรรคเดียว ซึ่งผู้ถูกร้องเบิกความต่อศาลยอมรับว่า ได้นำเสนอนโยบายดังกล่าวให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งเป็นการทั่วไป และปัจจุบันยังปรากฏบนเว็บไซต์ของพรรค และเมื่อหาเสียง แม้ว่าไม่มีร่างแก้ไขเพิ่มเติมว่าจะแก้ไขประเด็นใด แต่บนเว็บไซต์ของพรรค ก.ก. มีเนื้อหาการแก้ไขเพิ่มเติม ทำนองเดียวกับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับความผิดหมิ่นประมาทที่ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร

"เนื้อหาทั้งหลายที่เสนอเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงเจตนาที่ต้องการลดทอนการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ลง โดยผ่านร่างกฎหมายและอาศัยกระบวนการทางนิติบัญญัติเพื่อสร้างความชอบธรรม โดยซ่อนเร้นด้วยวิธีการกระบวนการทางสภา และยังมีพฤติการณ์รณรงค์หาเสียงทางการเมือง เพื่อเสนอความเห็นดังกล่าวแก่ประชาชนทั่วไป ผ่านนโยบายของผู้ถูกร้องทั้งสองอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้อาจหลงคิดไปกับนโยบายของพรรค" คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวตอนหนึ่ง

ศาลรัฐธรรมนูญ ยังอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2562 ที่วินิจฉัยสาระสำคัญที่เป็นหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยของไทย โดยอ้างอิงความในพระราชหัตถเลขาที่ 1/60 ลงวันที่ 14 พ.ย. 2547 ว่าพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ชั้นสูง ดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง โดยเฉพาะในแง่การไม่เข้าไปมีบทบาทเข้าไปแข่งขั้นการต่อสู้ แข่งขันรณรงค์ทางการเมือง อาจนำไปซึ่งการโจมตี ติเตียน และกระทบกระเทือนสถานะของพระมหากษัตริย์ให้ต้องถูกล้มล้างไป ดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2543 ที่วินิจฉัยว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไคย ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง

ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า การที่นายพิธา และพรรค ก.ก. เสนอเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้นโยบายทางการเมืองโดยนำสถาบันฯ ลงมาเพื่อหวังผลในการได้คะแนนเสียงและประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นผลทำให้สถาบันฯ ตกเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน จึงถือว่ามีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ ได้ในที่สุด

"การเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 เพื่อลดสถานะของสถาบันกษัตริย์ เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้นโยบายทางการเมือง โดยนำสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเพื่อหวังผลคะแนนเสียง และประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องเข้าไปเป็นฝักฝ่าย ต่อสู้ แข่งขัน รณรงค์ทางการเมือง อันอาจจะนำมาซึ่งการโจมตีติเตียน โดยไม่คำนึงถึงหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งมีหลักสำคัญว่า พระมหากษัตรย์ต้องดำรงฐานะอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมือง..."

"การที่ผู้ถูกร้องทั้งสอง (พิธาและพรรค ก.ก.) เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ข้อโต้แย้งทั้งสองของผู้ถูกร้องจึงฟังไม่ขึ้น" นายอุดม รัฐอมฤต อ่านคำวินิจฉัย

พิธา

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของหัวหน้าพรรคก้าวไกล

ไล่เรียงพฤติกรรม สส.ก้าวไกล “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย”

ความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ ยังชี้ถึงพฤติการณ์ของพรรค ก.ก. ทั้งนายพิธา ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคที่เป็นกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ตลอดจน สส. ที่มีพฤติการณ์เรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 รวมทั้งไปเป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 สะท้อนให้เห็นความมุ่งหมายในการยกเลิกมาตรา 112 อันเป็นการลดการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์

ศาลรัฐธรรมนูญ อ้างข้อมูลของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ว่ามีสมาชิกพรรค ก.ก. จำนวน 7 คน ที่ไปเป็นนายประกันในคดีมาตรา 112 ประกอบด้วย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ, ชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ, รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ, สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา สส.นครปฐม, ทองแดง เบ็ญจะปัก อดีต สส.สมุทรสาคร, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต สส.บัญชีรายชื่อ, ธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม.

อีกทั้งยังมี สส. ซึ่งศาลระบุว่ามีพฤติกรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ประกอบด้วย ปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. 2 คดี, ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.นครปฐม 2 คดี, รัชนก ศรีนอก สส.กทม.

"พฤติการณ์แสดงความคิดเห็นหรือเข้าร่วมการรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือเป็นหลักประกันให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายตามมาตรา 112 หรือเป็นผู้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวเสียเอง ย่อมแสดงให้เห็นว่าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นกลุ่มการเมืองที่ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์"

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังอ้างถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2566 พรรค ก.ก. จัดกิจกรรมปราศรัยใหญ่ที่สวนสาธารณะ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งนายพิธา ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นติดสติ๊กเกอร์ในกิจกรรมของกลุ่มทะลุวังว่า ยกเลิกมาตรา 112 ประเด็นนี้ แม้นายพิธาชี้แจงต่อศาลว่า เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของสถานการณ์ แต่การปราศรัยของนายพิธา ที่กล่าวว่า พรรค ก.ก. จะแก้ไขก่อน แต่หากการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้รับการตอบรับจากสภาผู้แทนราษฎร "ก้าวไกลจะออกไปสู้ด้วยกัน"

ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าคำปราศรัยนี้ "แสดงให้เห็นทัศนคติของนายพิธา ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ก.ก. ในขณะนั้น ที่พร้อมจะยกเลิกมาตรา 112 ทำให้บทบัญญัติที่คุ้มครองกษัตริย์หมดสิ้นไป เพราะหากแก้ในสภาไม่ได้ ก็พร้อมที่จะดำเนินการโดยอาศัยใช้วิถีทางอื่น นอกเหนือจากกระบวนการนิติบัญญัติ" ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เซาะกร่อนบ่อนทำลาย

tnp

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

สั่งเลิกการกระทำ

ศาลรัฐธรรมนูญ อ้างถึงมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ซึ่งกำหนดไว้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ ตลอดจนไม่กระทบความมั่นคงปลอดภัยของชาติ

แม้เหตุการณ์ตามคำร้องซึ่งได้แก่ การเสนอแก้ไขมาตรา 112 ผ่านพ้นไปแล้ว แต่การดำเนินการรณรงค์ให้แก้ไขหรือยกเลิกของนายพิธาและพรรค ก.ก. มีการดำเนินการต่อเนื่องเป็นขบวนการ โดยใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน ทั้งการชุมนุม จัดกิจกรรม การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา การใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง หากยังปล่อยให้นายพิธา และพรรค ก.ก. กระทำการดังกล่าวต่อไป "ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง จึงเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพการปกครองเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จึงสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าว

"การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย" นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อ่านคำวินิจฉัยกลาง