ประชามติ “เอกราช” ปาตานี กับเพดานเสรีภาพการพูดในชายแดนใต้

bbc
คำบรรยายภาพ, กิจกรรมจำลองการลงประชามติฟังเสียงคนชายแดนใต้ ที่เปิดให้ผู้ร่วมงานร่วมแสดงความคิดเห็นระหว่างการเปิดลงทะเบียน เมื่อ 7 มิ.ย. 2566
  • Author, ธันยพร บัวทอง
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

คำว่า "เอกราช" และ "แบ่งแยกดินแดน" ที่ปรากฏในกิจกรรมประชามติจำลองขององค์กรนักศึกษาน้องใหม่ที่ชายแดนใต้ ก่อให้เกิดข้อถกเถียงมานานกว่าหนึ่งสัปดาห์ ด้วยสถานะ "เรื่องต้องห้าม" ที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งถืออำนาจตามกฎหมายพิเศษในพื้นที่ชายแดนใต้ เดินหน้าสืบสวนผู้เกี่ยวข้อง

“ผมมองว่าพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย และผมมองว่าเป็นพื้นที่ที่เปิดสิทธิในการแสดงออกมากกว่า ไม่ควรที่จะปิดกั้น เพราะหลัก ๆ เราก็เปิดพื้นที่ทางเชิงวิชาการ ก็ควรเปิดให้ประชาชนมีสิทธิ หรือนักศึกษามีสิทธิที่จะสื่อสาร" คำชี้แจงของ อิรฟาน อูมา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ วัย 23 ปี และประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) บอกกับบีบีซีไทย หลังเกิดประเด็นจากกิจกรรมประชามติจำลอง เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.

กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่รวมตัวกันในชื่อ ขบวนนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีวาระสำคัญ คือ การเปิดตัวกลุ่มองค์กรนักศึกษา และมีการปาฐกถาประเด็นสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง รวมทั้งงานเสวนาที่มีการเชิญตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม

ทว่ากิจกรรมประชามติจำลองเพื่อสอบถามความคิดว่าควรมีการจัดประชามติ เกี่ยวกับรูปแบบการปกครองปาตานีที่ให้ผู้เข้าร่วมงานร่วมแสดงความคิดเห็นระหว่างลงทะเบียน กลายเป็นเรื่องถูกจับตา ส่งต่อ และขยายความบนโลกออนไลน์ และมีการเคลื่อนไหวตรวจสอบของหน่วยงานความมั่นคง

ข้อเท็จจริงของข้อความในบัตรแสดงความเห็นประชามติจำลอง มีคำถามที่ระบุว่า "คุณเห็นด้วยกับ สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย"

อิรฟาน ประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ บอกกับบีบีซีไทยว่า จุดประสงค์ของการจัดกิจกรรมมีขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของพื้นที่ชายแดนใต้ โดยไม่ได้มีจุดประสงค์ว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่ยอมรับว่าคำว่า “เอกราช” หรือ “แบ่งแยกดินแดน” นั้นค่อนข้าง “หมิ่นเหม่” จนกลายเป็นประเด็นที่ถูกนำไปตีความ

"เจตนารมณ์ของเรา ไม่มีจุดประสงค์ว่า พวกเราจะแบ่งแยกดินแดนหรือต้องการเอกราช ไม่ได้เขียนไว้แบบนั้น แต่ตัวบัตรประชามติ (จำลอง) ก็เขียนชัดว่า ประชาชนในที่นี้ คุณในฐานะคนปาตานี หรือในฐานะคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คุณเห็นด้วยหรือไม่ว่ากระบวนการประชามติ จะถูกใช้ในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น” อิรฟาน กล่าว

ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ เป็นองค์กรนักศึกษาในชายแดนใต้องค์กรล่าสุดที่มีการจัดตั้งขึ้น หลังจากการปิดตัวลงขององค์กรเปอร์มาสเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเป็นการรวมตัวของนิสิตนักศึกษาที่นิยามตัวเองว่าเป็นคน “ปาตานี” ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่จำนวนราว 60 คน และมีการรวมตัวเป็นสมาชิกมาราว ๆ 1 ปีแล้ว

Pelajar Bangsa

ที่มาของภาพ, Pelajar Bangsa/facebook

คำบรรยายภาพ, อิรฟาน อูมา ประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) อ่านข้อความแถลงเปิดตัวองค์กร ในช่วงท้ายของกิจกรรม

ด้านฝ่ายความมั่นคง โดย พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ระบุเมื่อ 13 มิ.ย. ว่าตรวจสอบเหตุการณ์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว เห็นว่ามีแนวโน้ม "จะหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมาย" จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่เร่งหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

ส่วนด้าน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุเมื่อ 12 มิ.ย. ว่าอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีส่วนราชการหลายหน่วยเร่งดำเนินการ พร้อมกับชี้ว่า การลงประชามติเรื่องเอกราช มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่าทำไม่ได้ ส่วนจะผิดกฎหมายมาตราย่อยอย่างไรต้องดูพฤติกรรมและหลักฐาน สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนพรรคการเมืองที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรม ถ้ามีหลักฐานว่ามีความผิดก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย

เสรีภาพการพูด พื้นที่วิชาการ และกรอบของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญไทยในมาตรา 1 ระบุว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ แล้วเสรีภาพในการอภิปรายประเด็นรูปแบบการปกครอง เช่น กรณีข้อความในกิจกรรมประชามติจำลอง ขอบเขตควรทำได้แค่ไหน

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ยืนยันว่า สิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออกในเชิงวิชาการในพื้นที่สถาบันการศึกษา ไม่ควรปิดกั้น อีกทั้งสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรมีติดตัวมนุษย์อยู่แล้ว และข้อเสนอให้มีการจัดประชามติฟังความเห็นตามที่มีการจำลอง อาจช่วยลดการใช้ความรุนแรงของฝ่ายที่ใช้อาวุธลงได้

"การแสดงออกในเชิงนี้ มันเป็นสิ่งที่ดีมากกว่า ว่าอาจจะลดความขัดแย้งในพื้นที่ได้มากขึ้น สุดท้ายแล้ว คนที่มีแนวคิดว่าจะใช้ปืนหรือใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ อาจจะหันมาต่อสู้ทางการเมืองอย่างที่เรานำเสนอ อันนี้เป็นโจทย์หลักของประชาชนและของรัฐบาลในประเทศนี้"

ทัศนะของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประเด็นชายแดนใต้ มองประเด็นนี้ว่า นี่เป็นเวทีวิชาการ เพราะองค์ประกอบของผู้เข้าร่วม และเนื้อหาเป็นการพูดถึงในเชิงวิชาการเป็นหลัก

pelajar

ที่มาของภาพ, Pelajar Bangsa/facebook

คำบรรยายภาพ, ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) ซึ่งในเดือน ธ.ค. ปี 2022 ใช้ชื่อว่า ขบวนนักศึกษาปาตานี ทำกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล เมื่อ 10 ธ.ค.

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการและนักวิจัยของสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ความเห็นกับ The Patani ว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้น หากเป็นบทบาททางวิชาการก็ควรจะเป็นที่ยอมรับได้ อีกทั้งเงื่อนไขหรือขอบเขตที่ทำกิจกรรมเรื่องนี้ก็อยู่ในวงจำกัด คืออยู่ในห้องประชุมของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการศึกษาในเชิงวิชาการรัฐศาสตร์ เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าจะมีปัญหามากถึงขนาดจะขยายตัวกลายเป็นการเคลื่อนไหวระดมมวลชนอย่างที่วิตกกังวล

"ฝ่ายรัฐที่รับผิดชอบด้านความมั่นคง กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) หรือ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) เอง ควรชั่งน้ำหนักให้ดีถึงสถานการณ์นี้ว่าเป็นการแสดงออกทางวิชาการ และเป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับโอกาสความเป็นไปได้ในการหาทางออกหรือการแก้ปัญหาในพื้นที่ นอกเหนือจากวิธีการอื่น ๆ ที่เคยทำอยู่" ผศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุ และบอกว่า

"การระมัดระวังในเรื่องของความมั่นคงควรจะมีเงื่อนไข และมีขอบเขตอยู่เหมือนกัน ว่าจำกัดขอบเขตเท่านี้และคุยทางวิชาการก็น่าจะยอมรับได้"

ประเด็นอ่อนไหวต่อพรรคการเมือง

ในกิจกรรมเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. มีช่วงของการเสวนาที่ตัวแทนพรรคการเมือง 3 พรรค ได้แก่ ประชาชาติ ก้าวไกล และเป็นธรรม ถูกเชิญเข้าร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น "การกำหนดอนาคตตนเอง กับสันติภาพปาตานี" นำมาสู่การชี้แจงจากตัวแทนพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค ยืนยันกระบวนการที่อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญภายใต้รูปแบบรัฐเดี่ยวของประเทศไทย

"เราอยู่ในกรอบของรัฐไทย และรัฐบาลไทยยังต้องทำงานภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งหมดควรมีพื้นที่ให้กับทุกคนในการถกเถียง" นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวหลังการประชุมนัดแรกของคณะทำงานย่อย 3 จังหวัดชายแดนใต้ ของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เมื่อ 9 มิ.ย. และย้ำว่าไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน

Pelajar Bangsa

ที่มาของภาพ, Pelajar Bangsa/facebook

คำบรรยายภาพ, พรรคการเมือง 3 พรรค ได้รับเชิญร่วมเสวนาประเด็นสันติภาพ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับกิจกรรมประชามติ โดยในวงเสวนาไม่ปรากฏตัวแทนจากพรรคก้าวไกล

นอกจากนี้ นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม และว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรค ยังได้กล่าวกับรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ว่า พรรคเป็นธรรม ไม่ได้อยู่เบื้องหลังหรือเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรม ส่วนการไปร่วมงานเสวนาของรองเลขาธิการพรรค เป็นการประสานในพื้นที่ ซึ่งไม่ได้มีการแจ้งทางพรรคให้ทราบ และไม่ทราบว่ามีกิจกรรมจำลองประชามติมาก่อน

กัณวีร์ ระบุด้วยว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของพี่น้องประชาชน จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญและเข้าไปพูดคุยกันในรัฐสภาเท่านั้น

"ถ้าไปแบบสุดโต่ง ตรงที่ว่าจะเป็นเอกราช คำนี้คงเป็นไปไม่ได้ คงจะต้องมีการพูดคุยในเชิงวิชาการด้วยกับกลุ่มน้อง ๆ ว่าในทางกฎหมายไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน เพราะมันผิดมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ" นายกัณวีร์ ระบุ

ล่าสุด วันนี้ (16 มิ.ย.) พรรคเป็นธรรม โดยนายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรค ลงนามในมติกรรมการบริหารพรรค ให้รองเลขาธิการพรรค ที่ร่วมในกิจกรรมเปิดตัวขบวนนักศึกษาฯ และรองโฆษกพรรค ที่แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวบนโซเชียล พ้นจากตำแหน่ง โดยอ้างว่ามีคุณสมบัติไม่เหมาะสม

สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง คืออะไร

อิรฟาน ระบุว่าการออกแบบกิจกรรมนี้ เป็นการเสนอวิธีทางการเมือง เพื่อให้เป็นช่องทางที่ประชาชนในพื้นที่ได้ส่งเสียงของตัวเอง หลังจากเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานเกือบ 20 ปี

“เราได้มีการถกเถียงว่า 18 19 20 ปีที่ผ่านมา มีการสูญเสียชีวิตทั้งจากกลุ่มที่ต่อสู้ผ่านองค์กรที่ใช้อาวุธ และมีการสูญเสียชีวิตของประชาชนมากมาย เรารู้สึกว่าจะลองสักครั้งไหม ลองว่าการนำเสนอวิธีทางการเมือง หรือการให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกต่อประชาชนขึ้นมาว่าจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ของประชาชนที่นี่หรือไม่”

อิรฟานอธิบายว่า นี่คือแนวคิดสิทธิในการกำหนดชะตากรรม/อนาคตตนเอง (Right To Self-Determination หรือ RSD) ที่เขาเห็นว่ารัฐควรจะเปิดรับ เพื่อให้ประชาชนได้กำหนดได้ด้วยตนเองว่าต้องการวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้งแบบไหน รวมถึงกระบวนการสันติภาพ

"การที่เป็นคนในพื้นที่ (ชายแดนใต้) มันก็ยากนะครับว่า ที่ต้องถูกกดทับโดยกฎหมายพิเศษ ที่ต้องเจอความรุนแรง ตื่นมาต้องเจอ ต้องคิดว่า เราจะไปตรงนี้ เราจะโดนอะไรไหม" อิรฟาน ระบุ

"RSD มันควรเป็นสิ่งที่รัฐควรออกมาให้ความสำคัญ ความขัดแย้งในพื้นที่มันก็เกิดขึ้นมาโดยตลอดและไม่จบ ผมมองว่าสุดท้าย ปัญหาหรือว่ากระบวนการสันติภาพ มันก็ต้องจบที่นี่ คนที่นี่จำเป็นที่จะต้องกำหนด" นักศึกษากฎหมายวัย 23 ปี กล่าวกับบีบีซีไทย

ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ ชี้ว่า กระบวนการสันติภาพในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีรูปธรรมความก้าวหน้าในเชิงหลักคิด เช่น การหยุดยิง การปรึกษาหารือในที่สาธารณะ โดยในข้อตกลงทั่วไประหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น เมื่อเดือน มี.ค. 2565 ก็ปรากฏถ้อยคำในเอกสารว่า ยอมรับสิทธิการแสดงออกของประชาชน "ปาตานี" ด้วย ดังนั้น หมายความว่าเป็นที่ยอมรับได้หากเป็นการพูดในกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย

"โดยนัยของการตีความทางวิชาการ เหมือนกับยอมรับว่า มันมีสิทธิในการกำหนดตัวเองอยู่ในกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย ที่สามารถจะยอมรับได้ ถ้าตามหลักทางวิชาการ คือ RSD (สิทธิในการกำหนดตนเอง) เป็นสิทธิที่อยู่ภายในสังคม หรือภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐ ที่สามารถแสดงออกได้ในกรอบอันนี้ เป็นสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะเป็นสิทธิของประชาคมคนกลุ่มน้อย"

ความเห็นต่อรูปแบบการปกครองผ่าน Peace Survey

แล้วคนในพื้นที่มีความคิดความเห็นต่ออนาคตของจังหวัดชายแดนใต้อย่างไร เครื่องมือที่ใช้อ้างอิงความเห็นของคนในพื้นที่เครื่องมือหนึ่ง ซึ่งถูกนำเสนอในโต๊ะเจรจาสันติภาพด้วยนั้น คือ ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey)

การสำรวจนี้ ดำเนินการโดยเครือข่ายทางวิชาการ 24 องค์กร นำโดย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ.ปัตตานี สำรวจความเห็นของคนในพื้นที่มาแล้ว 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2559 รวม 9,272 ตัวอย่าง ที่อาศัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลา เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึก ซึ่งมีประเด็นการสอบถามเกี่ยวกับเรื่อง รูปแบบการปกครองในพื้นที่ด้วย

ผลสำรวจความเห็น Peace Survey ครั้งล่าสุดที่มีการเผยแพร่ คือ ครั้งที่ 6 เมื่อปี 2564 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,391 ตัวอย่าง ผลสำรวจชี้ว่า 44.9% ของกลุ่มตัวอย่าง มีความเห็นว่าการพูดคุยในประเด็นรูปแบบการปกครองนั้นมีความจำเป็นมาก

สถานวิจัยความขัดแย้งฯ มอ.ปัตตานี

ที่มาของภาพ, สถานวิจัยความขัดแย้งฯ มอ.ปัตตานี

คำบรรยายภาพ, ผลสำรวจความเห็น Peace Survey ครั้งที่ 6 เมื่อปี 2564

ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่าง 35.2% ระบุว่า ขอไม่ตอบและไม่รู้ เมื่อสอบถามถึงรูปแบบการปกครองที่เป็นอิสระจากประเทศไทย โดยคณะผู้สำรวจและวิจัย ระบุว่า "สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวและความกังวลในการแสดงออกทางความคิดในประเด็นดังกล่าว"

นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจต่อรูปแบบการปกครองแบบต่าง ๆ ดังนี้

27.3% เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจมากขึ้น ด้วยโครงสร้างการปกครองที่เหมือนกับส่วนอื่น ๆ ของประเทศ (เพิ่มอำนาจให้ อบจ./ อบต. มากขึ้น) และ 32.1% ระบุว่า พอรับได้กับรูปแบบการปกครองเช่นนี้

24.4% เห็นด้วยกับรูปแบบการกระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่นี้ ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ เขตปกครองพิเศษ (กลุ่มตัวอย่างต้องการให้เป็นอย่างนั้นและจำเป็นอย่างยิ่ง)

25.1% รับไม่ได้เลยกับกับรูปแบบการปกครองที่เป็นอิสระจากประเทศไทย (เทียบกับผลสำรวจปี 2561 มีกลุ่มตัวอย่าง 33% ระบุว่า รับไม่ได้เลย)

13.4% เห็นด้วยกับรูปแบบการปกครองที่เป็นอิสระจากประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างต้องการให้เป็นอย่างนั้นและจำเป็นอย่างยิ่ง (เทียบกับผลสำรวจปี 2561 มีกลุ่มตัวอย่าง 22.7% ที่ระบุว่าต้องการรูปแบบนี้)