ไทยร้อนจัดทุบสถิติ ฤดูฝนล่าช้า มีความเสี่ยงจะเผชิญภัยแล้งหรือไม่

อากาศร้อน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, จากการเก็บสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า อ.เถิน จ.ลำปาง ทุบสถิติอุณหภูมิสูงสุดในช่วงฤดูร้อนของไทย วัดได้ 44.2 องศาเซลเซียส (แฟ้มภาพ)

จากการเก็บสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า อ.เถิน จ.ลำปาง ทุบสถิติอุณหภูมิสูงสุดในช่วงฤดูร้อนของไทย วัดได้ 44.2 องศาเซลเซียส ขณะที่อีกหลายพื้นที่มีอุณหภูมิร้อนทำลายสถิติเดิมของตัวเองอันเนื่องมาจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนิโญ

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติประกาศว่าฤดูแล้งของไทยจะสิ้นสุดลงปลายเดือน เม.ย. นี้ แต่ฤดูฝนจะล่าช้าจากปกติ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งประเมินว่าจะมีฝนตกหนักในช่วงปลายปีที่จะถึงนี้ จากอิทธิพลของปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่าอาจเกิดอุทกภัยขึ้นในหลายพื้นที่

ขณะที่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ไทยกำลังเผชิญกับสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว ได้แก่ ฝนตก น้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟป่าที่เพิ่มขึ้น

เม.ย. ร้อนจัดทุบสถิติ แต่ข่าวดีคือฤดูแล้งกำลังจะสิ้นสุดลง

นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) บอกว่า เดือน เม.ย. เป็นช่วงที่ไทยเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรง ส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก การใช้น้ำในภาคการเกษตรรวมถึงอุปโภคบริโภคของประชาชนจึงเพิ่มขึ้นมากในช่วงเดือนนี้อย่างเห็นได้ชัด ท่ามกลางสถานการณ์การสำรองน้ำในหลายพื้นที่ที่ไม่เพียงพอ

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ให้คำจำกัดความของคำว่า “เอลนีโญ-ลานีญา” ปรากฏการณ์คู่ตรงข้ามที่ส่งผลต่อสภาพอากาศทั่วโลก ดังนี้

เอลนีโญ: เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียจึงขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง แต่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น

ลานีญา: เกิดจากกระแสลมพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมายังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกตามเดิม แต่กระแสลมมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและฝนตกหนักมากกว่าปกติ ขณะที่แนวชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้จะเกิดความแห้งแล้งขึ้น

ทำนา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ทั้งประเทศมีการทำนาปรังเกินจากแผนการเพาะปลูกปี 2566/67 ไปแล้ว 10.21 ล้านไร่ คิดเป็น 126% ของแผนการเพาะปลูก ในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา

ทาง สนทช. คาดการณ์ว่าฤดูแล้งของไทยจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย. นี้ แต่ในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมาพบว่าพืชสวนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งของไทยมากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่จันทบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ซึ่งล้วนปลูกไม้ผลที่ใช้น้ำมากในพื้นที่ต้นน้ำ

รองเลขาธิการ สนทช. ยอมรับสถานการณ์ในช่วงหน้าแล้งที่กำลังจะผ่านไปนี้ “ค่อนข้างหนัก” จากอุณหภูมิที่สูงขึ้นมาก

“เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นมาก น้ำในพื้นดินก็จะระเหยสูงมากขึ้น ทำให้การใช้น้ำทั้งในสัตว์ ในพืช ในคน มีความปริมาณต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

จากการเก็บสถิติของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า อ.เถิน จ.ลำปาง ทุบสถิติอุณหภูมิสูงสุดในช่วงหน้าร้อนของไทย วัดได้ 44.2 องศาเซลเซียส ตามมาด้วย อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ วัดได้ 44.1 องศาเซลเซียส และ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี วัดได้ 44.0 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้ ยังพบว่าบางพื้นที่ใน จ.เพชรบูรณ์ ยังเป็น 1 ใน 22 แห่งที่ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดของตัวเองเมื่อเทียบกับอุณหภูมิที่วัดได้ในอดีต โดยสถิติทั้งหมดเกิดขึ้นในเดือน เม.ย. นี้

ผลกระทบในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา

นายไพฑูรย์ บอกว่า ที่ผ่านมาแม้ทางส่วนราชการขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 (1 มี.ค.-30 เม.ย.) ซึ่งถือว่าเป็นการปลูกข้าวรอบที่ 3 ของปี แต่ก็ยังพบว่ามีชาวนาจำนวนมากลงมือหว่านข้าวแล้ว และส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำตามมา เพราะต้องนำน้ำที่กักเก็บสำรองสำหรับอนาคตออกมาใช้ก่อน ทั้งที่น้ำใช้การขณะนี้มีอยู่ประมาณ 18,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นประมาณ 35% จากข้อมูลของกรมชลประทาน ณ วันที่ 28 เม.ย. 2567

ก่อนหน้านี้ ทางกรมชลประทานเคยออกมาเตือนว่าทั้งประเทศมีการทำนาปรังเกินจากแผนการเพาะปลูกปี 2566/67 ไปแล้ว 10.21 ล้านไร่ คิดเป็น 126% ของแผนการเพาะปลูก และข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2567 พบว่า มีการทำนาปรังรอบ 2 ไปแล้วกว่า 8 ล้านไร่ จากแผนเดิมที่วางไว้ประมาณ 5 ล้านไร่

เลขาฯ สนทช. จึงให้คำแนะนำว่าเกษตรกรควรหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการปลูกนาปรัง ส่วนพืชไม้สวน เช่น ทุเรียน ควรใช้ฟาง เศษหญ้า มาคลุมพื้นที่ของต้นให้มากที่สุด ร่วมกับการตัดแต่งกิ่ง เพื่อลดการคายน้ำ ทั้งนี้ ไม่ควรปลูกพืชสวนซึ่งต้องการน้ำเยอะในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ล่าสุด พบการปลูกทุเรียนในบางพื้นที่ของ จ.กาญจนบุรี ทั้งที่สภาพดิน น้ำ อากาศ ไม่เอื้ออำนวยตั้งแต่ต้น

ที่ผ่านมายังพบว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แล้งเช่นกัน อย่างที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ก่อนหน้าที่มีรายงานข่าวว่าอ่างเก็บน้ำบนเกาะพีพี จ.กระบี่ แห้งขอด ทำให้ไม่มีน้ำจืดใช้เพียงพอสำหรับทั้งเกาะ ส่งผลกระทบต่อการค้าและการท่องเที่ยว ขณะที่การขนส่งน้ำจืดจากแผ่นดินใหญ่ก็ทำได้ยาก

นายไพฑูรย์ บอกว่า แผนที่ดีที่สุดของเกาะพีพีคือการนำน้ำทะเลมาทำเป็นน้ำจืดใช้ภายในเกาะ แต่ติดปัญหาว่าพื้นที่บางส่วนขึ้นอยู่กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำให้การวางระบบและการขออนุญาตดำเนินการต่าง ๆ ต้องใช้เวลา และมีข้อพิจารณาตามกฎหมายของกรมอุทยานฯ หลายขั้นตอน

ขณะที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ก็ประสบปัญหาส่งน้ำไปยังพื้นที่สูงของเกาะไม่ได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าสามารถอาศัยซื้อน้ำจืดจากแผ่นดินใหญ่ และขนส่งทางเรือได้ ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีการวางแผนจะวางท่อส่งน้ำจากพื้นที่สุราษฎร์ธานีไปยังเกาะสมุย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาที่กำลังเกิดขึ้น

ล่าสุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ใน 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, ชลบุรี, บุรีรัมย์ และ ประจวบคีรีขันธ์ โดยปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือการขาดแคลนน้ำด้านเกษตรกรรม อุปโภค และบริโภค

น้ำท่วม

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าช่วงปลายฤดูฝนจะมีฝนตกหนัก และอาจทำให้บางพื้นที่น้ำท่วม

ฤดูฝนมาช้า แต่มีแนวโน้มว่าฝนจะตกเยอะช่วงปลายปี

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าฤดูฝนของประเทศไทยจะเริ่มประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน พ.ค. 2567 ซึ่งจะช้ากว่าปกติ 1-2 สัปดาห์ และจะสิ้นสุดประมาณปลายเดือน ต.ค. 2567

เงื่อนไขการพิจารณาว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนหรือไม่นั้น ทางกรมอุตุนิยมวิทยาจะพิจารณาจาก 3 เงื่อนไข ได้แก่ 1) มีฝนตกชุกต่อเนื่อง และครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ 2) ทิศทางลมตั้งแต่ระดับล่างใกล้เคียงผิวพื้นถึงความสูง 3.5 กิโลเมตร เปลี่ยนทิศทางเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมประเทศอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 1-2 สัปดาห์ และ 3) ลมชั้นบน ตั้งแต่ระดับความสูง 5 กม. ขึ้นไป เปลี่ยนทิศทางเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ

รองเลขาฯ สนทช. บอกกับบีบีซีไทยว่า ฤดูฝนที่ล่าช้า ไม่ได้หมายความว่าฝนจะไม่ตกช่วงต้นเดือน พ.ค. เลย เพราะมีแนวโน้มว่าอาจมีฝนตกบางพื้นที่ เพียงแค่ไม่ได้เข้าเงื่อนไข 3 ประการของกรมอุตุฯ

“ในส่วนของภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก อาจมีฝนตกช่วงต้นเดือน พ.ค. รวมถึงบางส่วนของภาคตะวันออก” นายไพฑูรย์ กล่าว

สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน พบว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 44,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 58% ของความจุ จากข้อมูลของกรมชลประทาน ณ วันที่ 28 เม.ย. 2567

“แต่ไม่ได้หมายความว่าเกินครึ่งแล้วจะสบาย เนื่องจากหลายพื้นที่ของไทยมีทั้งพื้นที่ราบสูง พื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง และพื้นที่ภูเขาซึ่งคนไม่ค่อยพูดถึง แต่มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากไม่สามารถนำส่งน้ำขึ้นไปได้ หรือไม่ก็มีน้ำไม่พอ” เลขาธิการ สนทช. บอกกับบีบีซีไทย พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่วงปลายปีนี้ประเทศไทยจะเผชิญกับปรากฏการณ์ลานีญาซึ่งส่งผลให้มีฝนตกมากขึ้น จึงคาดว่าปริมาณน้ำในภาพรวมจะกลับมาดีขึ้น

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ในช่วงประมาณกลางเดือน มิ.ย. – กลางเดือน ก.ค. ปริมาณและการกระจายของฝนจะน้อย ส่งผลให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน

ส่วนในช่วงเดือน ส.ค., ก.ย. และ ต.ค. จะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด มีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้มีฝนตกหนักมากในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่ง

“โอกาสที่เราจะประสบปัญหาอุทกภัยในหลาย ๆ พื้นที่ก็มีโอกาสสูง สำหรับปีนี้และทุก ๆ ปี” รองเลขาธิการ สนทช. กล่าว “ดังนั้น หากเราเข้าใจธรรมชาติ เราก็จะเข้าใจว่านี่มันเป็นธรรมชาติของประเทศที่อยู่ในเขตมรสุมแบบนี้ แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อลดความเสียหายให้น้อยลง”

ไฟป่า

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

ไทยกำลังเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้ว

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายพื้นที่บนโลกเกิดสภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้ว (extreme weather) ไม่ว่าจะร้อนจัด หนาวจัด ลมพายุที่รุนแรง ฝนตกหนัก และในฤดูหนาวมีอุณหภูมิลดต่ำลง โดยพบว่าผลกระทบที่เกิดในประเทศไทยในขณะนี้คือ ฝนตก น้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟป่าที่เพิ่มขึ้น

จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จากข้อมูลของสถานีอุตุนิยมวิทยาจำนวน 65 แห่ง ตั้งแต่ปี 1970-2022 พบว่า จำนวนวันที่มีอากาศหนาว (มีอุณหภูมิต่ำกว่า 16 องศาเซลเซียส) ในภาพรวมของไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คิดเป็น 4 วัน/ทศวรรษ เช่น ส่วนใหญ่ไทยจะมีฤดูหนาวช่วงเดือน ธ.ค. - ก.พ. รวมกันประมาณ 60 วัน แต่พบว่าในช่วงที่ผ่านมาภาคเหนือมีอากาศหนาวเย็นเพียง 45 วัน/ปี ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาวเพียง 30 วัน/ปี

ขณะที่จำนวนวันที่ฝนตกหนัก (ปริมาณฝนมากกว่า 35.1 มม. โดยเฉลี่ย) ในภาพรวมของประเทศไทย ยังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วย คิดเป็น 0.25วัน/ทศวรรษ

ด้านกลุ่มวิเคราะห์สภาพอากาศโลก (World Weather Attribution-WWA) ยังออกมาระบุว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วทั่วโลกขณะนี้ เกิดจากอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change)

เมื่อกลางปีที่แล้ว นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ยังออกมาประกาศด้วยว่ายุคโลกร้อน (Global Warming) สิ้นสุดลงแล้ว และโลกกำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) โดยมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่า 55 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสที่มีเป้าหมายควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 – 2.0 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และต้องควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดลง 43% ภายในปี 2573 ก็ตาม

ในรายงานล่าสุดของไอพีซีซียังระบุด้วยว่า ปฏิบัติการที่หลายฝ่ายลงมือทำเพื่อลดโลกร้อนนั้นยังห่างไกลจากเป้าหมายอยู่มาก