ฮาโลวีน: ป่าช้าวัดดอน ลดทอนความหวาดกลัว ด้วยสวนสุขภาพในสุสานกลางกรุง

คำบรรยายวิดีโอ, ฮาโลวีน : ป่าช้าวัดดอน ลดความหลอนด้วยสวนสุขภาพ
  • Author, เรื่อง-ภาพ โดย ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
  • Role, ผู้สื่อข่าววิดีโอ บีบีซีไทย

กรุงเทพ เมืองฟ้าอมร เต็มไปด้วยตำนานมากมาย หนึ่งในนั้นคือ เรื่องขนหัวลุกของ "ป่าช้าวัดดอน" สุสานกลางกรุงที่ฝังกลบศพกว่า 1 แสนร่างมาแล้ว แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป การพัฒนายกระดับเมืองหลวงไทย ให้เป็นมหานคร ถนนหลายสายตัดผ่าน ตึกสูงผุดขึ้นมากมาย ดินแดนคนตาย ก็กลายเป็นสวนสวยให้ผู้คนทำกิจกรรม แทบปราศจากความกลัว แม้ต้องวิ่งข้างหลุมศพ

ตีสี่ เวลาที่คนส่วนใหญ่ยังหลับพักผ่อน แต่ผู้คนที่รักสุขภาพในเขตสาทร และละแวกใกล้เคียง ทยอยเดินทางมาออกกำลังกาย ที่สวนสุขภาพแต้จิ๋ว ฟ้ายังมืดสนิท แต่ภายในสวนเปิดไฟส่องสว่างอย่างทั่วถึง ช่วยให้เส้นทาง เดิน-วิ่ง ปรากฎชัดขึ้น นั่นรวมถึงทัศนียภาพรอบข้าง อย่าง สุสานจีน หรือ "ฮวงซุ้ย" จำนวนมาก แต่ดูเหมือนผู้คนจะไม่หวาดกลัว จนเป็นอุปสรรคต่อการออกกำลัง

เส้นทางวิ่งในสวนสุขภาพแต้จิ๋ว ผ่านหลุมศพมากมาย แต่ผู้คนไม่รู้สึกแปลกใจอะไร

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เส้นทางวิ่งในสวนสุขภาพแต้จิ๋ว ผ่านหลุมศพมากมาย แต่ผู้คนไม่รู้สึกกลัว

"ดูสิตึกรามบ้านช่อง ขึ้นเต็มไปหมด พอการพัฒนา ความเจริญมันเข้ามา สมัยนี้เขาเลิกกลัวกันแล้ว" อรุโณทัย เกริกไกรแพทย์ สัปเหร่อวัดบรมสถล (วัดดอน) อายุย่าง 60 ปี กล่าวกับบีบีซีไทย รอบตัวเขาเต็มไปด้วยสุสานหลายร้อยหลุม

สวนแห่งนี้ เป็นผลผลิตของโครงการ "สวนสวยในป่าช้า" ของสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ที่แปรสภาพพื้นที่สุสานเดิม หลังการล้างป่าช้า มาเป็นสวนสาธารณะสำหรับชุมชน แต่เพราะสุสานของทางสมาคมส่วนใหญ่ เป็นศพมีญาติ ที่บางครอบครัวไม่ต้องการให้เคลื่อนย้าย ทำให้ยังหลงเหลือฮวงซุ้ยจำนวนมากล้อมรอบสวนอยู่จนถึงปัจจุบัน

อรุโณทัย เกริกไกรแพทย์ สัปเหร่อวัดบรมสถล (วัดดอน)

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, อรุโณทัย เกริกไกรแพทย์ สัปเหร่ออายุงานกว่า 30 ปี ของวัดบรมสถล (วัดดอน)

"ที่เราเห็นนี่แค่นิดหน่อยนะ ยังมีอีกเยอะ เป็นหมื่นเลยครับ" สัปเหร่อร่างท้วม เล่า

"เวลาเช็งเม้งที คนมาเต็มสวนเลย เพื่อมาไหว้บรรพบุรุษ แต่คนอื่นก็ออกกำลังกายตามปกติ"

ผ่านมือมา...นับหมื่นศพ

สวนสวยแต้จิ๋ว เคยเป็นส่วนหนึ่งของสุสานวัดดอน ป่าช้ากลางกรุงที่มีขนาดกว้างถึง 150 ไร่ ถ้าเทียบกับปัจจุบัน จะอยู่ตั้งแต่ซอยเจริญกรุง 57 เชื่อมต่อถึงเซ็นต์หลุยส์ ซอย 3 โดยแบ่งพื้นที่ฮวงซุ้ยออกเป็น 3 ส่วน ภายใต้การดูแลของสามองค์กร คือ สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย สมาคมใหหนำ และมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง

สุสานของสมาคมแต้จิ๋วฯ และสมาคมใหหนำ ล้วนเป็นศพมีญาติ แต่ของมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง ส่วนใหญ่เป็นศพไร้ญาติ ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือที่คนไทยเรียกว่า "ศพตายโหง" ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความเฮี้ยนในหมู่คนที่เชื่อเรื่องภูตผี

พิธีล้างป่าช้า ศพไร้ญาติของป่อเต็กตึ้ง

ที่มาของภาพ, มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง

คำบรรยายภาพ, พิธีล้างป่าช้า ศพไร้ญาติของป่อเต็กตึ้ง

อรุโณทัย เกิดและเติบโตในพื้นที่นี้ บ้านเดิมของเขาห่างจากแหล่งที่ตั้งฮวงซุ้ย ไม่ถึง 500 เมตร จึงคุ้นชินกับตำนานป่าช้าวัดดอนเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเรื่องเล่าของผู้โดยสารที่หายไป หรือปรากฎตัวขึ้น ระหว่างขับผ่านพื้นที่ป่าช้า เป็นที่อกสั่นขวัญแขวนของคนขับแท็กซี่ และสามล้อ จนไม่กล้าเข้ามารับส่งผู้โดยสารในสมัยก่อน

"ตั้งแต่เด็ก ผมก็เริ่มจับศพแล้ว เวลาล้างป่าช้าก็ไปช่วยเขาล้างกระดูก ผ่านศพที่ตายมาทุกรูปแบบ" อรุโณทัย เล่าความหลัง แม้ไม่เคยนับ แต่เขาเชื่อว่ามีศพผ่านมือเขามากกว่าหมื่นศพแล้ว ทั้งนี้ ตัวเขาเองไม่เคยเผชิญกับประสบการณ์เหนือธรรมชาติ ที่คนสมัยก่อนชอบเล่าสู่กันฟัง

เจ้าหน้าที่ขนโลงศพที่ขุดจากหลุม เพื่อนำไปฌาปนกิจ

ที่มาของภาพ, มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่ขนโลงศพที่ขุดจากหลุม เพื่อนำไปฌาปนกิจ

"ส่วนมากตายโหง จมน้ำตาย วัณโรค ผูกคอตาย ตายทั้งกลม ที่ (คนเชื่อว่า) เฮี้ยนที่สุดเพราะสองวิญญาณ ตอนล้างป่าช้าสมัยก่อน บางศพฝังกับดินเกิดการย่อยสลาย เปิดมาศพเละเป็นปลาร้า แล้วสมัยก่อนไม่มีถุงมือนะ แต่ก็ต้องทำกัน"

ผีหลอก วิญญาณหลอน แต่สู้"เสาเข็ม" ม่ได้

สัปเหร่อวัยใกล้เกษียณเล่าต่อว่า สมัยก่อน เวลานำศพไปฝังที่สุสาน ต้องผ่านประตูผี บริเวณปากทางเข้าวัดดอน หรือที่คนในพื้นที่เรียกว่า ประตูขาว ก่อนแยกเข้าสุสานของสมาคมฯ และมูลนิธิ กลายเป็นที่มาของชื่อ "ป่าช้าวัดดอน"

ชุมชนใกล้กับวัดดอน มีทั้งบ้านเรือน โรงเรียนมัธยมหลายแห่ง

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ชุมชนใกล้กับวัดดอน มีบ้านเรือนหนาแน่น โรงเรียนมัธยม ใกล้กันก็ยังมีหลุมศพอยู่หลายแห่ง
วัดบรมสถล หรือวัดดอน ที่บรรยากาศในวันนี้ ต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, วัดบรมสถล หรือวัดดอน ที่บรรยากาศในวันนี้ ต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

หลายสิบปีก่อนนั้น บรรยากาศแถบนี้วังเวง ไม่มีไฟฟ้า และถนนหนทางสัญจรได้ลำบาก แต่ปัจจุบัน ประตูผีถูกรื้อออกไปนานแล้ว เพราะไม่มีศพเข้ามาเพิ่ม เมื่อกิจกับศพลดลง อรุโณทัยจึงรับงานเสริมส่งเอกสาร เพื่อหาเลี้ยงชีพในช่วงเช้า ตกเย็นก็กลับเข้าวัด

เต็มไปด้วยศพ

พระมหาอดิศักดิ์ อภิปัญโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบรมสถล (วัดดอน) ชี้ให้ดูวิหารปฎิบัติธรรม อาคารสีขาว สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2559

"โยมเชื่อไหม กว่าจะสร้างเสร็จนี่ เกิดเรื่องมากมายเลย เจาะเสาเข็มก็เจอ 9 ศพ คนงานพม่าโดนผีสิง กว่าจะไล่ผีกันได้นี่เล่นเอาเหนื่อยกันทั้งวัด" พระอาจารย์เล่าด้วยความคล่องแคล่วไม่สะดุด เพราะเป็นเรื่องที่เทศน์ให้ญาติโยมฟังอยู่บ่อย ๆ พร้อมยอมรับว่า ใต้ผืนวัดนี้ มีศพอีกจำนวนมากฝังอยู่ ขุดไปตรงไหนก็เจอ

พระมหาอดิศักดิ์ อภิปัญโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบรมสถล (วัดดอน) ยืนอยู่หน้าวิหารปฎิบัติธรรม

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, พระมหาอดิศักดิ์ อภิปัญโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบรมสถล (วัดดอน) ยืนอยู่หน้าวิหารปฎิบัติธรรม

"ป่าช้ามันลามมาถึงบริเวณนี้หมด โรงเรียนแถวนี้ก็ใช่หมดนะ เขาทุบเขาล้าง (ป่าช้า) เพื่อสร้างโรงเรียนขึ้นมาไง"

ทั้งนี้ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสยอมรับว่า เมื่อชุมชนมีคนอยู่หนาแน่นขึ้น การพัฒนาเข้ามา คนรุ่นหลัง ๆ มองเรื่องราวที่พระอาจารย์เล่ามา เป็นเพียงแค่ตำนาน ความน่ากลัวน้อยลงมาก ไม่เหมือนคนสมัยก่อนที่เชื่อเป็นจริงเป็นจัง

"ทางด่วนมาผีก็หาย ใครล่ะจะไปสู้เสาเข็มได้"

จากป่าช้าสู่ สวนสวยที่ดินให้เช่า

เมื่อราว 20 ปีก่อน รัฐบาลเวนคืนพื้นที่สุสานของมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง 4 ไร่ จากที่มีอยู่ 13 ไร่ เพื่อตัดเป็นถนนเจริญราชย์ ทางมูลนิธิฯ เล็งเห็นว่า นี่คือสัญญาณความเจริญที่จะเข้ามาอีก ประกอบกับศพไร้ญาติที่ล้นสุสาน จึงตัดสินใจย้ายสุสานไปอยู่ อำเภอบ้านแพ้ว จ. สมุทรสาคร ด้วยพื้นที่เพิ่มขึ้น จาก 4 พันหลุม เป็น 7 พันหลุม

ป่อเต็กตึ้ง ล้างป่าช้าครั้งใหญ่ เคลื่อนย้ายศพไปสุสานใหม่ จ. สมุทรสาคร

ที่มาของภาพ, มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง

คำบรรยายภาพ, ป่อเต็กตึ้ง ล้างป่าช้าครั้งใหญ่ เคลื่อนย้ายศพไปสุสานใหม่ จ. สมุทรสาคร

"แล้วเราก็เปลี่ยนพื้นที่ 9 ไร่ที่เหลืออยู่ มาเป็นสวนเฉลิมพระเกียรติ ให้ประชาชนในเขตสาทรได้ใช้ประโยชน์" อารัณย์ โตทวด ผู้จัดการฝ่ายปฎิบัติการ มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยทางโทรศัพท์

"บ้านเมืองต้องปรับปรุงพัฒนา มีขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นปลาย ดูอย่างโทรศัพท์มือถือก็เล็กลง เรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจต้องมาก่อน เมื่อก่อนที่ดินราคาถูก พอทำฮวงซุ้ยได้ แต่เราต้องปรับตัวเพื่อการพัฒนาด้วย ซึ่งผมเองก็สนับสนุน"

แต่ไม่ใช่ว่า ป่าช้าเก่าอีกแห่งใกล้เคียงจะแปรเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ เหมือนสวนเฉลิมพระเกียรติ และสวนสุขภาพแต้จิ๋ว เพราะพื้นที่สุสานของอีกองค์กร คือ สมาคมใหหนำแห่งประเทศไทย เลือกปล่อยให้เอกชนเช่าที่ดินกว่า 8 ไร่แทน

ยรรยง กัยวิกัย ผู้จัดการสมาคมใหหนำแห่งประเทศไทย

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ยรรยง กัยวิกัย ผู้จัดการสมาคมใหหนำแห่งประเทศไทย

ยรรยง กัยวิกัย ผู้จัดการสมาคมใหหนำฯ อธิบายว่า ปล่อยเช่าที่ดินด้วยสัญญานานสุดไม่เกิน 3 ปี คิดค่าเช่าไร่ละประมาณ 70,000 - 100,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งภัตตาคาร และเพิงที่พักของคนงานก่อสร้าง แต่ไม่สามารถตอบได้ว่า คนงานที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา ทราบหรือไม่ว่าหลับนอนอยู่บนสุสานเก่า

เมื่อถามว่า ทางสมาคมฯ คิดจะขายที่ดิน หรือปล่อยเช่าระยะยาว เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการใหญ่ไหม เขายืนกรานว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะที่ดินกว่า 8 ไร่นี้ เป็นทรัพย์สินของสมาคมฯ ถ้าจะขาย ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสมาคมฯ 200 คน นี่แค่ด่านแรก แล้วยังต้องฝ่าด่านสอง คือ การประชุมใหญ่ที่มีสมาชิกกว่า 8 พันคนด้วย แต่จนถึงวันนี้ ไม่เคยมีสมาชิกคนใดกล้าเสนอเรื่องขายที่ดินเลย เพราะกลัวโดนครหาว่า "ขายที่ดินบรรพบุรุษ"

เพิงคนงานก่อสร้าง บนที่ดินที่สมาคมใหหนำฯ ปล่อยเช่า

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ที่ดินที่สมาคมใหหนำฯ ปล่อยเช่าให้ทำเพิงพักคนงานก่อสร้าง

"อันที่จริง ยังมีฮวงซุ้ยตั้งอยู่จำนวนหนึ่ง บางครอบครัวเป็นตระกูลที่ร่ำรวย บรรพบุรุษสั่งเสียว่าไม่ให้ย้าย ลูกหลานก็ไม่กล้า เพราะถือเคล็ดว่า อาจทำให้ความมั่งคั่งของตระกูลหายไป อีกอย่าง ถ้าพูดกันตามฮวงจุ้ยแล้ว พื้นที่สุสานนี่ผิดหลักเต็ม ๆ" ยรรยง กล่าว แต่กระซิบว่า ที่ดิน 8 ไร่ของสมาคมใหหนำฯ เป็นทำเลทองที่สุดแล้ว เพราะติดถนนใหญ่ ไม่เหมือนกับของสมาคมแต้จิ๋วและป่อเต็กตึ้ง ที่อยู่ลึกเข้าไปในซอย

สุสาน คือ "เครื่องตอกย้ำให้เราทำความดี"

สมาน เทพนำโสม คนสาทรแต่กำเนิด อายุ 70 ปี ปั่นจักรยานออกกำลังที่สวนสุขภาพแต้จิ๋ว วันละ 1 ชั่วโมง ห้าวันต่อสัปดาห์ เขาเล่าว่า สมัยก่อนที่เป็นป่าช้า ไม่ได้กลัวอะไร มาวันนี้ยิ่งไม่กลัว ก่อนชี้ไปให้ดูเด็ก ๆ ที่ช่วงนี้ปิดเทอม และมารวมกลุ่มทำกิจกรรมกัน "ผมชอบที่เปลี่ยนป่าช้า เป็นสวนแบบนี้ มิเช่นนั้น เราคงไม่ได้มาทำกิจกรรมอย่างนี้" สมาน กล่าวด้วยรอยยิ้ม จากที่สังเกตภายนอกแล้ว เป็นผู้สูงวัยที่ร่างกายแข็งแรงดี

สมาน เทพนำโสม พร้อมจักรยานเสือภูเขาคู่ใจ

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, สมาน เทพนำโสม พร้อมจักรยานเสือภูเขาคู่ใจ

ตอนนี้ ใกล้ 1 ทุ่มตรง ฟ้ามืดแล้ว แต่ผู้คนยังคงออกกำลังกาย ทำกิจกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก บีบีซีไทยถามสัปเหร่อแห่งวัดดอนว่า แล้วเขาคิดอย่างไรกับสวนสาธารณะที่เกิดบนผืนดินป่าช้า เขาตอบว่า "คนเป็น" ต้องขอบคุณสุสานและคนตาย ที่ทำให้เรามีที่ออกกำลังกาย

บรรยากาศสวนสุขภาพแต้จิ๋วยามค่ำคืน ก่อนปิดสวนเวลา 20 นาฬิกา

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, บรรยากาศสวนสุขภาพแต้จิ๋วยามค่ำคืน ก่อนปิดสวนเวลา 20 นาฬิกา

ด้วยประสบการณ์กับศพนับไม่ถ้วน จนเกิดสัจธรรมประจำใจ อรุโณทัยอยากให้ ประชาชนที่เข้ามาวิ่งในสวนสาธารณะกลางป่าช้า ตระหนักถึงคุณค่าของการทำความดี ในขณะที่ยังคงมีชีวิตอยู่

"วิ่งไป ปลงไปว่า สักวันหนึ่งเราก็ต้องตาย และไม่รู้ว่าลูกหลานเราจะทำสุสานให้อย่างนี้หรือเปล่า เราจึงควรทำความดีเมื่อยังมีโอกาส" เขาระบุ ก่อนจะเดินออกจากสุสานคนตาย สู่แดนคนเป็นที่ผู้คนทุกเพศทุกวัย กำลังใช้ชีวิต และออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพที่ดี