เกิดอะไรขึ้นกับศึกชิง ผบ.ตร. กับ “ขวากหนาม” ช่วงโค้งสุดท้ายของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก” มีชื่อเป็นหนึ่งในแคนดิเดต ผบ.ตร. คนใหม่

“ไม่มีอะไร เราก็แสดงความบริสุทธิ์ใจให้เขาเห็น ก็ทราบว่า มีการออกหมายจับลูกน้องผมไปหลายคน ก็ไม่เป็นไร ก็เมื่อมีหมายจับ ก็ต้องแสดงความบริสุทธิ์”

นี่คือการให้สัมภาษณ์แรกต่อสื่อมวลชนหลายสำนัก รวมถึงไทยพีบีเอส ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก” รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หลัง สอท. หรือ ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมหน่วยคอมมานโด นำหมายค้นเข้าตรวจสอบบ้านของเขา และบ้านที่ซื้อไว้ให้ลูกน้องพัก รวม 5 หลัง ในหมู่บ้านซอยวิภาวดี 60 หลังสโมสรตำรวจ ที่ สอท. ขยายผลการสอบสวนพบว่า มีเส้นทางการเงินเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์พนันออนไลน์

สอท. นำหมายค้นเข้าไปเมื่อช่วงเช้าตรู่ก่อน 8.00 น. วันที่ 25 ก.ย. และพบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในชุดลำลอง เสื้อยืดขาวและกางเกงขาสั้น ที่ตอบกลับไปว่า “กลับไปเลยไป ผมไม่ให้ค้น”

ต่อมา พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการ สอท. เดินทางมาเข้าเจรจากับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จึงอนุญาตให้เข้าตรวจค้นตามหมาย

.

ที่มาของภาพ, handout

“ผมก็นำกำลังตำรวจค้นเอง ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายอะไร” บิ๊กโจ๊ก กล่าวด้วยน้ำเสียงเหมือนที่ให้สัมภาษณ์สื่อตามปกติ พร้อมยืนยันว่า “ตอบได้ทุกคำถาม”

นายตำรวจที่กำลังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” และเป็นหนึ่งใน “แคนดิเดต” ผบ.ตร. คนใหม่ ยืนกรานออกสื่อว่า เขาไม่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์พนันออนไลน์ หากจะเกี่ยวก็เป็น “การปราบปรามอย่างเดียว ไม่เคยรับเงินพวกนี้อยู่แล้ว”

และในฐานะผู้บังคับบัญชา เขายังเชื่อมั่นในตัว “ลูกน้อง” ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องผิดกฎหมาย เพราะ “เราเป็นชุดทำงานกันมานาน ถ้ามันผิดก็ผิดไปนานแล้ว”

ไม่เพียงเท่านั้น เขามองว่าเป็นเรื่องดีที่นายตำรวจยศสูงแค่ไหน ก็สามารถถูกหมายเข้าค้นได้ แต่ที่ไม่ยินยอมในคราแรก เพราะ “ผมเป็นรอง ผบ.ตร. ถ้าจะค้นบ้านผม ต้องให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงมา”

เหตุชุลมุนที่เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 25 ก.ย. ถือว่าเกิดขึ้นในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จะร่วมประชุมเคาะเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ ในวันที่ 27 ก.ย. 2566 หลังมีการเลื่อนกำหนดเลือก ผบ.ตร. มาดำรงตำแหน่งต่อจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ออกไป 1 เดือน

ต่อคำถามว่า การบุกค้นในเช้าวันที่ 25 ก.ย. เป็นการ “สกัดขา” สู่เส้นทางการเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนต่อไปหรือไม่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตอบปัดว่า “ไม่ได้มองว่าเป็นการสกัด เป็นเรื่องที่ สอท. ทำตามหน้าที่”

.

เชื่อมพนันออนไลน์อย่างไร

จากการบุกค้นบ้านของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตำรวจสามารถจับกุมบุคคลตามหมายจับได้ 1 ราย และตลอดวันที่ 25 ก.ย. จับกุมได้อีกรวม 8 ราย ซึ่งล้วนเป็นตำรวจยศสูงที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการกฎหมายและคดี ในฐานะหัวหน้าชุด "พีซีที 5" ให้สัมภาษณ์ในรายการ "เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์" วันที่ 26 ก.ย. ว่า การบุกค้นเพื่อจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ไม่ได้จงใจให้เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้าการพิจารณาเลือก ผบ.ตร. คนใหม่ ในวันที่ 27 ก.ย. แต่เป็น "การดำเนินตามระยะเวลาของพยานหลักฐาน"

"บางครั้งเรากำหนดเวลาไม่ได้หรอก ถ้าล่าช้าไปการจับกุมผิดพลาด" พล.ต.ท.ไตรรงค์ อธิบาย ก่อนไล่ไทม์ไลน์การสืบสวน-จับกุม-ขยายผล จนนำมาสู่การบุกค้นบ้านของ "บิ๊กโจ๊ก" ดังนี้

.

ที่มาของภาพ, Handout

คำบรรยายภาพ, ตำรวจและหน่วยคอมมานโด อาวุธครบมือ บุกค้นบ้านบิ๊กโจ๊ก

- ช่วงเดือน พ.ค. 2566: ตำรวจเริ่มการสืบสวนเครือข่ายแก๊งพนันออนไลน์

- 20 มิ.ย. 2566: ตำรวจพีซีที หรือ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ บุกจับ "บอสตาล" หรือ พงษ์ศิริ ฐานราชวงศ์ศึก ประธานทีมฟุตบอลลำพูนวอริเออร์ ใน จ.พะเยา หลังพบเป็นเจ้าของเว็บพนันออนไลน์และฟอกเงิน พร้อมทำธุรกิจหลายอย่างบังหน้ารวมมูลค่ากว่าพันล้าน

.

ที่มาของภาพ, Handout/สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

คำบรรยายภาพ, บอสตาล

- 30 ก.ค. 2566: จากการขยายผลเครือข่ายเว็บไซต์พนันออนไลน์ของ "บอสตาล" ตำรวจได้ปิดล้อมพื้นที่ 4 จุด ใน กทม. และ จ.เลย พร้อมจับกุมผู้ต้องหา 3 ราย คือ

  • น.ส.สุชานันท์ หรือ ธนัยนันท์ หรือ "มินนี่" ฉายา เจ้าแม่เว็บพนัน
  • น.ส.อรณี (สงวนนามสกุล)
  • นายณัฐวัตร (สงวนนามสกุล)

ตำรวจยังได้ตรวจยึดของกลางสมุดบัญชีธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ 100 รายการ บัตรอิเล็กทรอนิกส์กว่า 55 ใบ โทรศัพท์มือถือ จำนวน 30 เครื่อง เงินสด 920,000 บาท คอมพิวเตอร์ ไอแพดและเครื่องรับส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ต หลายรายการพบเงินหมุนเวียนกว่าร้อยล้านบาท

.

ที่มาของภาพ, Handout/สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

คำบรรยายภาพ, มินนี่ ฉายาเจ้าแม่เว็บพนัน

- ส.ค.-ก.ย. 2566: ตำรวจขยายผลการสืบสวนไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายของ "มินนี่" และพบตำรวจหลายนาย เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงรับเงินจากบัญชีม้า

- 25 ก.ย. 2566: ตำรวจได้ออกหมายจับผู้เกี่ยวข้อง 23 ราย เป็นพลเรือน 15 คน และตำรวจ 8 นาย พร้อมนำหมายตรวจค้นบ้านพักหลังสโมสรตำรวจ กทม. เพื่อจับกุมหนึ่งในผู้ต้องหาตามหมายจับ แต่ปรากฏว่ากลายเป็นบ้านของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ยืนยันว่า ตำรวจชุดตรวจค้นไม่มีใครทราบมาก่อนว่า บ้าน 5 หลังดังกล่าว เป็นบ้านที่ "บิ๊กโจ๊ก" ครอบครอง โดยชี้แจง สาเหตุของการขอหมายค้นว่า ค่าใช้จ่ายสาธาณูปโภคของบ้านเหล่านี้มาจากบัญชีของผู้ต้องหาที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์พนันออนไลน์ อีกทั้ง มีการจัดส่งเอกสารมายังบ้านเลขที่เหล่านี้

.

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, บุกค้นบ้านของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์

"นี่เป็นหมู่บ้านปิด ใครจะไปทราบว่าใครเข้าไปอยู่ในนั้น ส่วนการสืบสวนก็เป็นไปในทางลับ" พล.ต.ท.ไตรรงค์ อธิบาย พร้อมเสริมว่า ผู้ต้องหา 23 ราย รวมตำรวจ 8 นาย เป็นสำนวนคดีเดียวกับ "มินนี่" ทั้งสิ้น โดยเฉพาะ พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย รองผู้บังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 4 ซึ่งเป็นคนสนิทของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และปรากฏภาพถ่ายอย่างใกล้ชิดกับ "มินนี่"

พ.ต.อ.ภาคภูมิ เป็นบุคคลที่สื่อหลายสำนัก รวมถึงไทยพีบีเอสและพีพีทีวี รายงานตรงกันว่า เป็นจุดเชื่อมโยง "บิ๊กโจ๊ก" และตำรวจอีก 7 นาย เข้ากับ "มินนี่" หลังพบว่า พ.ต.อ.ภาคภูมิ ส่งเลขที่บัญชีม้าให้ "มินนี" ผ่านการแชท

และต่อมา ปรากฏว่า มินนี่โอนเงินหลายสิบครั้ง เป็นเงินหลายล้านบาทเข้าบัญชีดังกล่าว ซึ่งต่อมาถูกโอนต่อไปยังบัญชีของตำรวจหลายนาย รวมถึงโอนเป็นค่ารักษาพยาบาลมารดาของ "บิ๊กโจ๊ก" และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ตอบคำถามนี้ว่า ไม่ทราบว่าใครเผยแพร่ข้อมูลทางธนาคารให้สื่อมวลชน แต่ยืนยันว่า บัญชีม้าดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องมานาน 1 ปี

"ท่านต้องตอบว่า ท่านเกี่ยวข้องอะไรกับเจ้าของบัญชี ซึ่งเป็นผู้มีบัญชีเกี่ยวพันกับพนันออนไลน์... ถ้าเป็นผู้รับประโยชน์ หรือช่วยเหลืออำพราง ซุกซ่อน ก็จะมีความผิดร่วมกันฐานฟอกเงิน" เขากล่าว โดยไม่ระบุว่า "ท่าน" หมายถึงใคร

ยุทธการ "ดิสเครดิต" ?

เวลา 12.00 น. วันที่ 25 ก.ย. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในชุดตำรวจเต็มยศ เดินทางเข้าสโมสรตำรวจ พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชี้ว่า นี่เป็นความพยายาม “ดิสเครดิต”

“การค้นบ้าน รอง ผบ.ตร มีพยานหลักฐานพอจะค้นได้หรือเปล่า” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตั้งคำถาม พร้อมเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้น “มันเป็นการเมืองภายในตำรวจ”

“เชื่อไหมว่า วันนี้ จะค้นบ้าน รอง ผบ.ตร. ได้ ทั้งที่ไม่มีความผิด... มันเป็นความพยายาม

ดิสเครดิต ให้ผมเสียชื่อ เรื่องอย่างนี้ ผมเจอมาเยอะแล้ว”

“บิ๊กโจ๊ก” ระบุอีกว่า มีผู้ไม่ประสงค์ดี ไปขอหมายกับศาลโดยไม่ระบุว่า เป็นบ้านของเขา ศาลไม่ทราบด้วยว่าเป็นบ้านพักของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล และจนถึงตอนนี้ ยัง “หาคนสั่งไม่ได้... ใครทำต้องรับผิดชอบ”

ส่วนคำว่า "การเมืองในตำรวจ" รอง ผบ.ตร. เชื่อว่า เป็นเพราะเขาทำคดีมามากมาย และมีหลายคดีที่กระทบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคน ออกหมายจับตำรวจมามาก ซึ่งเขาต้องรับแรงกดดันอยู่แล้ว แต่ถ้า "เราไม่ทำ ใครจะทำ"

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, บรรยากาศช่วงเข้า บริเวณทางเข้าบ้านพักของ "บิ๊กโจ๊ก" มีสื่อมวลชนรอทำข่าวเป็นจำนวนมาก

ผบ.ตร. ว่าอย่างไร ?

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ตำรวจไซเบอร์และคอมมานโดบุกตรวจค้นบ้านพัก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ยอมรับว่า "เรื่องนี้กระทบกับภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ"

ทั้งนี้ ผบ.ตร. นี่ไม่ใช่ "การเมืองในตำรวจ" ว่าด้วยการเลือก ผบ.ตร. คนใหม่

"ส่วนตัวคิดว่าไม่เกี่ยว แต่เป็นการทำงานจากการขยายผล และเรื่องนี้ยังไม่ได้เกี่ยวกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ แต่ 8 คน อาจจะเป็นลูกน้อง ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย" พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าว ก่อนอธิบายว่า เพิ่งทราบเรื่องการตรวจค้นบ้าน "บิ๊กโจ๊ก" เมื่อเช้านี้ และ "อันนี้บ้านใครตนยังไม่ทราบเลย"

.

เมื่อถามอีกว่า ได้พูดคุยกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ แล้วหรือไม่ ผบ.ตร. กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุย แต่เมื่อถามว่า ต้องเรียก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้าพบหรือไม่ ผบ.ตร.ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว

ค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก” เจออะไร

พล.ต.ท.วรวัฒน์ ผบช.สอท. ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อเวลา 10.00 น. หลังตรวจค้นบ้านของบิ๊กโจ๊ก-ลูกน้อง รวม 5 หลัง ว่า “ไม่เจออะไร” ที่เกี่ยวข้องกับหมายค้น

ผู้บัญชาการ สอท. อธิบายต่อว่า สอท. ได้รับคำร้องขอจัดชุดตำรวจเข้าสนับสนุนการตรวจค้นเท่านั้น แต่หน่วย “แม่งาน” คือ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ พีซีที ที่มีจุดประสงค์การเข้าตรวจค้น 2 ประการ คือ ตรวจหาบุคคลตามหมายจับ และหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม

การตรวจค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก” ยังเป็นส่วนหนึ่งของยุทธการ “Big Cleaning Day” ของชุดปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ปูพรมลงพื้นที่ 6 จังหวัดเป้าหมาย ที่มีความเกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ คือ เพชรบุรี สมุทรปราการ ขอนแก่น อุดรธานี สระบุรี และ กทม. เบื้องต้นจับกุมผู้ต้องหาได้ 11 คน ทั้งพลเรือนและตำรวจ

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สาเหตุที่ พล.ต.ท.วรวัฒน์ ต้องเดินทางมาด้วยตนเอง เพราะ “รอง ผบ.ตร. อยากให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูง ซึ่งอยู่ใกล้เคียงมาพบ” และเขายอมรับว่า ไม่เคยทราบรายละเอียดว่า สถานที่ที่จะตรวจค้นนั้นเป็นบ้านที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ครอบครองอยู่

“ผมไม่ทราบรายละเอียด… อาจมีผู้ต้องหาตามหมายจับบางท่านอาศัยอยู่ เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่” ผบช.สอท. กล่าว

ขวากหนาม สู่ ผบ.ตร.

ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 ส.ค. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. คนปัจจุบัน ได้ออกบันทึกข้อความเรื่องการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ กล่าวถึง แคนดิเดต ผบ.ตร. คนใหม่ 4 คน ดังนี้

  • พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ หรือ “บิ๊กรอย” รอง ผบ.ตร. ลำดับที่ 1
  • พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก” รอง ผบ.ตร. ลำดับ 2
  • พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ “บิ๊กต่าย” รอง ผบ.ตร. ลำดับที่ 3
  • พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล หรือ “บิ๊กต่อ” รอง ผบ.ตร. ลำดับ 4
.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สื่อมวลชนสายตำรวจเคยวิเคราะห์กับบีบีซีไทยว่า หากไม่มีอะไรสะดุดหรือที่เรียกกันติดปากในวงการสีกากีว่า "รถทัวร์คว่ำ" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะกลายเป็นอาวุโสอันดับ 1 ในหมู่นายพลตำรวจเอก ในปี 2569 ที่อาจได้ครองเก้าอี้ ผบ.ตร.ยาวนาน 5 ปี

"โจ๊ก หวานเจี๊ยบ" คือ ฉายาที่เขาได้รับจากคนรู้จัก และผู้สื่อข่าวสายตำรวจ เนื่องจากทำได้สารพัดงาน พูดจาสุภาพอ่อนหวาน ยกมือไหว้ได้ทุกคน ท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตน และความใส่ใจในทุกรายละเอียด

แต่ “บิ๊กโจ๊ก” ก็เผชิญขวากหนามมากมาย ต่อเส้นทางสู่ ผบ.ตร. ซึ่งบีบีซีไทย สรุป 3 เหตุการณ์สำคัญ ได้ดังนี้

  • “บิ๊กโจ๊ก” เกือบเอาชีวิตราชการไปทิ้ง ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ 3 กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในปี 2552 เพราะถูกนายเขตสยาม เนาวรังสี นักธุรกิจร้านอาหารใน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ร้องเรียนว่าเรียกรับผลประโยชน์ จนถูก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ในขณะนั้น สั่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง จนเกือบถูกออกจากราชการ ท้ายสุด สุรเชษฐ์ ชนะทุกข้อกล่าวหา แต่ระหว่างสู้คดี ชื่อของเขาก็หายเงียบไปนานเกือบ 2 ปี
  • ช่วง “ท็อปฟอร์ม” ที่สุดช่วงหนึ่ง คือ ภายหลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หนุนให้ “บิ๊กโจ๊ก” ขึ้นเป็นผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เมื่อปี 2561 เขาโชว์งานด้านการปราบปรามอาชญากรรม ออกสื่อไม่เว้นวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปมกู้นอกกฎหมาย นำคืนโฉนดที่ดิน แต่รับตำแหน่งได้ 6 เดือน ก็ถูก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ในขณะนั้น สั่งย้าย ตามด้วยถูก หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 โอนเขาไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ประจำปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และถูกขึ้นบัญชีบุคคลต้องได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จนเขาต้องไปใช้ชีวิตเงียบ ๆ ในฐานะข้าราชการพลเรือน 2 ปีเต็ม
  • ปี 2564 สุรเชษฐ์ กลับมาผงาดอีกครั้งในตำแหน่งหลักผู้ช่วย ผบ.ตร. แต่บทบาทไม่พุ่งแรงเช่นเดิม ถึงอย่างนั้น ยังมีขวากหนามคอยขวางกั้น หลัง พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ กัญจน์ชัยกิจ รองผู้บังคับการกองร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอให้ทำการทบทวนสำนวนการสืบข้อเท็จจริง คดีเรียกรับเงินจากนายเขตสยาม เมื่อกว่า 12 ปีก่อน ก่อนที่ท้ายสุด นายเขตสยามได้กลับคำให้การ และต่อมา 26 พ.ค. 2565 นายเขตสยามได้เสียชีวิตลง

ส่วนการบุกค้นบ้านของ “บิ๊กโจ๊ก” ในวันที่เป็น รอง ผบ.ตร. และหนึ่งในแคนดิเดต ผบ.ตร. คนล่าสุด จะเป็นขวากหนามสำคัญเหตุการณ์ต่อไปสู่เส้นทางการเป็น ผบ.ตร. หรือไม่ ยังต้องจับตาต่อไป