ศึกชิงประธานสภาฉุดพรรคเพื่อไทยสู่วิกฤตศรัทธา ?

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พรรคเพื่อไทยยืนกรานต้องได้ประธานสภา แม้ได้คะแนนเป็นอันดับ 2
  • Author, ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

แฮชแท็ก #ประธานสภา ขึ้นเทรนดิงอันดับ 1 ในทวิตเตอร์อีกครั้ง หลังพรรคเพื่อไทยประกาศมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ยืนยันสูตร “14+1” และต้องได้ประธานสภาผู้แทนราษฎรมาครอง จนทำให้การเจรจาของ “8 พรรคร่วมรัฐบาล” ต้องหยุดชะงัก ทั้งที่อีกไม่กี่วันจะเปิดประชุม เพื่อเลือกประธานสภาแล้วก็ตาม

สำหรับผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย หรือ “แฟนพันธุ์แท้เพื่อไทย” หลายคน ยังไม่พอใจกับคำอธิบายของพรรคเพื่อไทย (พท.) ถึงเหตุผลที่ต้องได้ประธานสภาฯ ไม่ว่าจะ “เสมอภาคและเป็นธรรม” “ให้เกียรติซึ่งกันและกัน” และที่นั่ง ส.ส. “ต่างกันเพียง 10 คะแนน”

“ทำเหมือนเป็นศรีธนญชัย... พูดให้มันดูดี” ศ.เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง บอกกับบีบีซีไทย ในฐานะปัญญาชนผู้ขอ “ลากหัวใจ” คนเลือกเพื่อไทยต่อเนื่อง 22 ปี มาเตือนว่า การเปิดศึกชิงประธานสภาฯ ใกล้ทำให้ พรรคเพื่อไทยสูญพันธุ์ในตระกูลของเขา

“พรรคไหนชนะคะแนนมาเป็นอันดับ 1 ก็ได้ประธานฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไปสิครับ... เมื่อก้าวไกลได้ที่ 1 เราก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาบริหาร” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าว

ธเนศวร์ เจริญเมือง

ที่มาของภาพ, ธเนศวร์ เจริญเมือง

คำบรรยายภาพ, "ขออย่าให้ผมต้องเลือกพวกคุณครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายเลยนะครับ" ศ.เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง กล่าว

ไม่เพียงแต่นักรัฐศาสตร์จากแดนเหนือ แต่ผู้สนับสนุนอีกจำนวนไม่น้อย ประกาศว่า ศึกชิงประธานฝ่ายนิติบัญญัติของ พท. กำลังทำลายศรัทธา จนทำให้การเลือกตั้ง 2566 อาจเป็น “ครั้งสุดท้าย” ที่จะเข้าคูหากาเพื่อไทย หรือเปลี่ยนสถานะจาก “คนเชียร์” ไปเป็น “ปฏิปักษ์เพื่อไทย” ก็เป็นได้

บีบีซีไทย ชวนผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “แฟนพันธุ์แท้” เพราะโหวตเลือกมาโดยตลอด มาพูดคุยถึงมหากาพย์ประธานสภา ที่กำลังสั่นคลอน “8 พรรคร่วมรัฐบาล” กับคำถามสำคัญว่า ชั้นเชิงการเมืองเช่นนี้ของ พท. จะทำให้พวกเขาหมดใจไม่ไปต่อกับ “พรรคสีแดง” หรือไม่

พท. “ไม่เคลียร์” แต่ยังไม่เปลี่ยนใจ

สิริพรรณี สุปรัชญา อาชีพอิสระ เล่าว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป 3 ครั้งหลังสุดที่ไม่เป็นโมฆะ นั่นคือการเลือกตั้งในปี 2554, 2562 และ 2566 เธอกาเลือกพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด และหากย้อนไปก่อนหน้านั้นในการเลือกตั้งปี 2550 เธอก็เลือกพรรคพลังประชาชน ที่ถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ ทักษิณ เช่นเดียวกับเพื่อไทย

แม้พรรคเพื่อไทยจะถูกทำลายสถิติชนะเลือกตั้งมาตลอด 22 ปี แต่ก็ยังไม่ทำให้เธอ “เปลี่ยนใจ” ไปโหวตให้พรรคอื่น และยังแสดงความเป็นห่วงถึงอนาคตของพรรคเพื่อไทย ด้วยการตั้งคำถามถึงยุทธศาสตร์ต่อไปของ พท. กับ “โทนี วู้ดซัม” หรือ นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 16 พ.ค. ในรายการ “แคร์ทอร์ค” จนถูกเรียกว่า “ด้อมส้ม” ที่ต่อมาเธอยืนกรานว่า “กาเพื่อไทยทั้ง 2 ใบ”

แต่ปมประธานสภา ที่ล่าสุด พท. แถลงยืนกรานว่าต้องได้มาครอง สิริพรรณีมองว่า ทางพรรคเพื่อไทยยังตอบ “ไม่เคลียร์พอ” ในเรื่องเหตุผล

“ในคำแถลงบอกว่า เพราะชนะไม่ต่างกันมาก ประธานสภาจึงควรเป็นของเพื่อไทย... แต่คะแนนห่างกันกว่า 3 ล้านเสียง ก็เยอะเหมือนกันนะ” เธอกล่าว “มันดูเป็นคณิตศาสตร์การเมืองมากไปนิด แล้วเรื่องความอาวุโสมันฟังไม่ขึ้นเท่าไหร่”

.

ที่มาของภาพ, Handout

คำบรรยายภาพ, สิริพรรณี สุปรัชญา เคยถูก "โทนี วู้ดซัม" เรียกว่าคนสนับสนุนพรรคส้ม ในรายการ "แคร์ทอร์ค" เธอจึงยืนกรานว่า "เลือกเพื่อไทยทั้งสองใบ" ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

“อยากให้ใช้เหตุผลเชิงอุดมการณ์และการเมืองมากกว่า” รวมถึงประกาศชื่อบุคคลที่จะเสนอเป็นประธานสภา เพื่อให้สาธารณชนได้ประเมินคุณสมบัติว่า มีความเหมาะสม วุฒิภาวะ และความอาวุโส ตามที่ พท. กล่าวอ้างหรือไม่

อย่างไรก็ดี เธอยืนกรานว่าการต่อรองเก้าอี้-ตำแหน่ง เป็นธรรมดาของการเมือง และศึกชิงประธานสภายังไม่ใช่ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เธอเปลี่ยนใจเปลี่ยนพรรคที่สนับสนุน

“ไม่แฟร์” สำหรับ “วัยรุ่นยุคทักษิณ”

พิเชฐ (ขอสงวนนามสกุล) เป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่โหวตให้ไทยรักไทย-พรรคลูกหลาน ในการเลือกตั้งทุกครั้ง (ยกเว้น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ลงคะแนนให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) เขาเรียกตัวเองว่าเป็น “วัยรุ่นยุคทักษิณ” ในฐานะคนไทยที่เติบโตในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย ถึงระดับอุดมศึกษา ในช่วงเวลาที่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี

สำหรับเขา นั่นเป็นยุคที่ “เศรษฐกิจไทยขึ้นสู่จุดสูงสุด เรากำลังกลายเป็นเสือตัวที่ห้า เราเรียนคณะที่ชอบได้ เพราะจบมาก็เชื่อมั่นว่ามีงานทำ” ไม่เพียงเท่านั้น เขายังได้เห็นนโยบายที่ทำได้จริงของ พท. โดยเฉพาะ “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่ช่วยค่ารักษาพยาบาลคุณพ่อของเขา ตอนที่เป็นอัมพฤกษ์

เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลให้เขา “เชียร์” พรรคเพื่อไทย รวมถึงช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน ๆ มา แต่เหตุผลสำคัญยิ่งกว่าคือ ความรู้สึกว่า พท. “เป็นผู้ถูกกระทำมาโดยตลอด” ไม่ว่าจะการรัฐประหาร การสลายการชุมนุม และเหยื่อเกมยุบพรรค

แต่เมื่อเกิดมหากาพย์ศึกชิงประธานสภา ภาพลักษณ์ “ผู้ถูกกระทำ” ของเพื่อไทย จึงเริ่มจางเลือนไปในสายตาเขา เพราะมาวันนี้ “คุณกลายเป็นผู้กระทำ... ยัดเยียดความอยุติธรรมให้ผู้อื่น”

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พิธา-ชลน่าน แสดงสัญลักษณ์ "ดีลรัก"

ยิ่งถ้อยแถลงของแกนนำพรรคเพื่อไทย รวมถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ว่า “ตำแหน่งรัฐมนตรีที่ควรได้คือสูตร 14+1... รวมถึงตำแหน่งประธานสภา” พิเชฐ ยิ่งมองว่า “ไม่แฟร์”

“เขาจัดโควตารัฐมนตรีให้เท่ากันนี่หว่า ก้าวไกลให้เกียรติมากนะ โคตรอภิสิทธิ์ ถ้าคุณจะเอาประธานสภาฯ อีกหนึ่ง ผมว่าไม่ค่อยแฟร์” พิเชฐ บอกกับบีบีซีไทยผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

“แล้วถ้าถึงขนาดสกัดก้าวไกลไม่ให้เป็นรัฐบาล ผมพร้อมจะเป็นปฏิปักษ์กับเพื่อไทย” เพราะ พท. ที่เขาเคยเชื่อมั่น อาจกลายเป็นพรรคที่ “ไม่ได้สนวิธีการเข้าสู่อำนาจ” อีกแล้ว

"ครั้งสุดท้าย” กับเพื่อไทย

ในฐานะนักรัฐศาสตร์ คนเชียงใหม่ และพลเรือนไทยคนหนึ่ง ศ.เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง มี 2 เหตุผลหลักที่กาให้พรรคสีแดง ไม่ว่าจะอยู่ในชื่อและโลโก้ไหน นับแต่ปี พ.ศ. 2544 ถึง 2566

หนึ่ง – นับตั้งแต่สมัย ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทยสู้ด้วยเหตุผล หากแพ้ (ถูกรัฐประหาร-ยุบพรรค) ก็วางตัวในจุดที่รอโอกาส กลับขึ้นสู่อำนาจใหม่ ผ่านการเลือกตั้ง

สอง – พรรคเพื่อไทย “ทำนโยบายที่เสนอให้ปรากฏได้จริงเป็นครั้งแรกในประเทศนี้ และเห็นความสำคัญของชีวิตประชาชน”

ธเนศวร์ เจริญเมือง

ที่มาของภาพ, ธเนศวร์ เจริญเมือง

คำบรรยายภาพ, “ประชาธิปไตยของไทย ล้มลุกคลุกคลาน ใครจะหยิบอะไรขึ้นมาอ้างเป็นประเพณีก็ได้” ศ.เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์

แต่มาวันนี้ ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง 14 พ.ค. แล้ว “ตระกูลปัญญาชน” นามสกุล เจริญเมือง เหลือเขาเพียงคนเดียวที่ยังสนับสนุน พท. หลังญาติพี่น้องวัยเดียวกันได้ตายจาก ส่วนบุตรสาวก็กลายเป็นผู้สนับสนุนพรรคสีส้มไปแล้ว

ดังนั้น เมื่อเห็นแกนนำพรรคเพื่อไทยแถลงว่า ต้องได้เก้าอี้ประธานสภา ซึ่งแตกต่างจากท่าทีก่อนหน้านั้น ทำให้ ศ.เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ ขอ “ลากหัวใจ” ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เตือนว่า นี่อาจเป็น “ครั้งสุดท้าย” ที่เขาจะเลือกเพื่อไทย

เหตุผลต่าง ๆ ที่แกนนำพรรคแถลงชี้แจงเหตุผลที่ควรได้โควตาประธานสภา ไม่ว่าจะเป็น จำนวน ส.ส. ไม่ต่างกันมาก, สูตร 14+1, ความเสมอภาค และ ความเป็นธรรม ล้วนแล้วแต่เป็นการพูดแบบ “ศรีธนญชัย” ที่กำหนดธรรมเนียมแบบปากเปล่า สร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง

“เราจะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้ก้าวตามอารยประเทศ เราต้องยุติธรรมก่อน” เขาอธิบายกับบีบีซีไทย ก่อนอธิบายต่อเรื่อง “ธรรมเนียมทางการเมือง” จากมุมนักรัฐศาสตร์ว่า “ประชาธิปไตยของไทย ล้มลุกคลุกคลาน ใครจะหยิบอะไรขึ้นมาอ้างเป็นประเพณีก็ได้”

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ก้าวไกลกับเพื่อไทย มีข่าวช่วงชิงตำแหน่งประธานสภามาโดยตลอด

บีบีซีไทยถามนักวิชาการ มช. ว่า แล้ว “ธรรมเนียมทางการเมือง” ของโลกอารยะควรเป็นอย่างไร เขายกตัวอย่างง่าย ๆ ว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ พรรคใดได้เสียงอันดับ 1 ในสภาล่าง-วุฒิสภา ก็ได้ตำแหน่งประธานสภานั้น ๆ ไป เช่นเดียวกับรัฐสภาอังกฤษ

แต่การบัญญัติ “ธรรมเนียมทางการเมือง” ของไทย ไม่เคยมีการถกเถียงหรือกำหนดอย่างจริงจัง เพราะถูกขัดขวางและชอนไชด้วย “ระบบรัฐประหาร” มาตลอด

ธรรมเนียมทางการเมือง คือสิ่งที่ทำและสืบทอดกันต่อ ๆ มาจนเป็นเรื่องปกติ เช่น การให้สิทธิพรรคที่ชนะการเลือกตั้งรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลก่อน

แต่ผู้เพลี่ยงพล้ำหรือพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งของไทย มักหาช่องสร้างธรรมเนียมใหม่ ยกตัวอย่าง ปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ อ้างคะแนนมหาชนมากกว่า จัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคเพื่อไทย ไม่เพียงเท่านั้น ยังเสนอบุคคลจากพรรคอันดับ 2 (พรรคร่วมรัฐบาล) มาเป็นประธานสภา แล้วในปี 2566 ก็มีการสร้างธรรมเนียมใหม่เช่นกัน หลัง พท. อ้างว่า “เสียงห่างกันไม่มาก” จึงควรได้ประธานสภา

“ระบอบประชาธิปไตยไทย มันถูกบดขยี้ ทำลายเสียหายกันมาหลายครั้งแล้ว มีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับแล้ว มันไม่เคยมีธรรมเนียมอะไรเลย” เขากล่าว

อย่าข้ามเส้นศรัทธา

ผู้สนับสนุนเพื่อไทยทั้ง 3 คน บอกกับบีบีซีไทยตรงกันว่า แฟนคลับ-ผู้สนับสนุน พท. แต่ละคน มีเส้นที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่แตกต่างกัน ซึ่งหากพรรคล้ำเส้นนี้ ก็จะผลักดันให้พวกเขาหันไปสนับสนุนพรรคอื่นได้

และนี่คือ “เส้น” ของแต่ละคน ที่ขอเตือนออกสื่อว่า พท. ไม่ควรข้าม

สิริพรรณี – ถ้า... ดีลลับกลายเป็นจริง

“ถ้าเพื่อไทยไปจับมือกับพลังประชารัฐและภูมิใจไทย คิดว่าจะย้ายพรรคใหม่จริง ๆ ไม่ไหว”

พิเชฐ - ถ้า... สกัดก้าวไกลไม่ให้เป็นรัฐบาล

“ผมพร้อมเป็นปฏิปักษ์กับเพื่อไทย... เพราะเราเชียร์คุณ ช่วยคุณหาเสียง ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา พอวันหนึ่ง คุณไม่สนวิธีการเข้าสู่อำนาจ แต่ถ้าจะเอาชนะแบบนี้ เลิกคุยกันเลย”

ศ.เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ – ไม่ยอมรับว่าเป็นพรรคอันดับ 2

“แพ้เขาแล้ว ก็ยืดอก เป็นลูกนักสู้ตามรอยนักสู้คนสันกำแพง เป็นนักกีฬา ต้องยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ปรับปรุงตัวเองแล้วกลับมาที่ 1 ในวันหน้า... ขออย่าให้ผมต้องเลือกพวกคุณครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายเลยนะครับ”