ประมวลปัญหาจากผู้ใช้บริการสถานีขนส่งหมอชิต 2 ขณะที่ บขส. ยังขาดทุนหนัก

คนรอรถบขส.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, หมอชิต 2 เป็นสถานีขนส่งที่มีผู้โดยสารใช้งานมากที่สุดเพื่อเดินทางกลับต่างจังหวัด ระบุโดย นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส. กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล

ทุกเทศกาล เรามักจะได้ยินเสียงสะท้อนปัญหาเดิม ๆ ซ้ำซาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความสะอาด ความสะดวกสบาย และความปลอดภัยภายในสถานีขนส่งกรุงเทพ (จตุจักร) หรือ หมอชิต 2 ศูนย์กลางการเดินทางสำหรับคนต่างจังหวัดที่จำต้องจากบ้านเกิดมาทำงานในเมืองกรุง

ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน แต่กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในการบริหารจัดการของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ผู้บริหารจัดการพื้นที่ของหมอชิตดูเหมือนจะดังขึ้นจนทำให้ #หมอชิต2 ติดเป็นเทรนด์อันดับต้น ๆ ของวันนี้ (29 ธ.ค.) ในวันที่คนต่างจังหวัดทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาล่วงหน้าเทศกาลปีใหม่

ส่วนหนึ่งมาจากการที่นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านเอ็กซ์ (x) หรือ ทวิตเตอร์เดิม เมื่อวานนี้ (28 ธ.ค.) ว่า หมอชิต 2 เป็นสถานีขนส่งที่มีผู้โดยสารใช้งานมากที่สุดเพื่อเดินทางกลับต่างจังหวัด แต่รัฐบาลกลับให้ความปลอดภัยพื้นฐานกับประชาชนไม่ได้

ข้อความของเขาเกิดขึ้นหลังจาก 3 เดือนที่แล้ว ที่เขาได้แจ้งกระทรวงคมนาคมผ่านที่ประชุมรัฐสภา ว่า ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาปรับปรุงหมอชิต 2 เนื่องจากพบปัญหาเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกและปัญหาความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาความแออัด บันไดเลื่อนใช้งานไม่ได้ หรือการขนส่งที่ไม่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส จนทำให้เกิดปัญหาวินเถื่อน ฯลฯ ก็ตาม

ในเวลาต่อมาในวันนี้ (29 ธ.ค.) บขส. ออกมาชี้แจงข้อกล่าวหาของ สส.ก้าวไกล ว่า ระบบโครงสร้างยังใช้การได้ แต่บางส่วนก็ต้องปิดไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้เดินทาง พร้อมยอมรับว่า 3 ปีที่ผ่านมามีปัญหาด้านการเงิน เนื่องจากการเดินทางในระบบรถขนส่งสาธารณะระหว่างเมืองได้รับความนิยมลดลง และผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

"ขอหมอชิต 2 ที่สะอาด สะดวก ปลอดภัย"

หากย้อนกลับไปอ่านข่าวหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นปัญหาจากการใช้บริการของสถานีขนส่งหมอชิต ยังคงวนเวียนอยู่เพียงไม่กี่เรื่อง

อย่างการรายงานข่าวของเว็บไซต์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา รายงานสถานการณ์การเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า มีผู้โดยสารรายหนึ่งยังเล่าถึงปัญหาการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะว่า การให้บริการของรถร่วม บขส. ยังมีความพร้อมไม่มากนักมาไม่ตรงเวลา อีกทั้งบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตยังพบปัญหารถรับจ้างสาธารณะ เช่น วินมอเตอร์ไซด์รับจ้างและรถแท็กซี่รับจ้างสาธารณะโก่งราคา

ย้อนกลับไปยังเดือน ก.ค. ปี 2565 สื่อมวลชนหลายฉบับรายงานถึง การร้องเรียนจากประชาชนในการเดินทางมายังสถานีขนส่งหมอชิต 2 ในช่วงวันหยุดยาว ต้องประสบปัญหารถแท็กซี่ผิดกฎหมายโกงค่าโดยสาร

ในช่วงเดือน ก.ย. 2563 ยังเคยเกิดเหตุปัญหารถแท็กซี่เถื่อนและวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่คอยดักฉุดกระชากสัมภาระผู้โดยสารขณะลงจากรถโดยสาร บริเวณอาคารชานชาลาขาเข้า จนทำให้ผู้บริหาร บขส. หารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ถึงแนวทางการจัดระเบียบบริเวณพื้นที่

ภาพบรรยากาศ

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

นี่เป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและยังต้องการการแก้ไขปัญหา และเป็นสิ่งที่ น.ส. สิริษา บุญมาก อายุ 34 ปี อาชีพอิสระ ซึ่งใช้บริการสถานีขนส่งหมอชิต 2 เพื่อเดินทางไปกลับกรุงเทพ ฯ – อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ภูมิลำเนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเดินทางไปกลับทุก ๆ 3-4 เดือน ทั้งในช่วงวันปกติและหน้าเทศกาล ก็ต้องเผชิญเช่นกันตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

เธอบอกว่า การเดินทางไปหมอชิต 2 จากบ้านในเขตประเวศ เป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายและเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น เนื่องจากรถไฟฟ้าบีทีเอสไม่เชื่อมต่อกับหมอชิต 2 ทำให้ต้องเดินทางต่อด้วยวินจักรยานยนต์หรือรถแท็กซี่เท่านั้น ซึ่งบางครั้งเสี่ยงเจอแท็กซี่ไม่กดมิเตอร์ หรือวินโกงราคา เป็นต้น หรือถ้าหากเลือกขึ้นรถโดยสารประจำทาง ก็เสี่ยงจะทำเวลาไม่ได้ ยังไม่นับปัญหาจุดจอดรถโดยสารที่ห่างไกลจากสถานีหมอชิต 2 ระดับหนึ่ง ซึ่งเธอมองว่ายังไม่สะดวกต่อผู้ใช้บริการ

ในปีนี้ น.ส.สิริษา เลือกจะกลับ อ.ประโคนชัย ก่อนช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่และเดินทางกลับกรุงเทพ ฯ หลังช่วงวันหยุดผ่านไปเพียงไม่กี่วัน เพื่อหลีกเลี่ยงความหนาแน่นของผู้คน และไม่ต้องเผชิญกับปัญหาตั๋วรถโดยสารราคาแพงของเหล่าบรรดารถเสริม (รถ30) ของ บ.ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่มักถูกเรียกมาให้บริการช่วงหน้าเทศกาล โดย น.ส.สิริษาบอกว่า ค่าตั๋วของรถเสริมเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เพราะทราบดีว่าคนพร้อมจะจ่าย เนื่องจากไม่มีทางเลือก

ในฐานะผู้ใช้บริการหมอชิต 2 มาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี น.ส.สิริษา บอกว่า เธอต้องการให้ บขส.ปรับปรุงสถานีหมอชิต 2 ให้สะอาด สะดวก และปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากที่นี่เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางบกที่รองรับผู้โดยสารทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะแค่คนจนเท่านั้น

หมอชิตในวันปกติแทบไร้ผู้คน

น.ส. สิริษา เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การเดินทางในช่วงปกติที่ไม่ได้เป็นช่วงเทศกาลที่มีผู้เดินทางจำนวนมากว่า หมอชิต 2 ในช่วงวันปกติจะดูร้าง แทบจะไร้ผู้คน แต่หากเป็นหน้าเทศกาล คนจะล้นชานชาลาจนแน่นขนัด บ้างต้องนั่งกับพื้น ส่งผลให้อาคารผู้โดยสาร ชานชาลา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องน้ำซึ่งค่อนข้างสกปรกอยู่แล้ว ยิ่งอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีแม่บ้านคอยทำความสะอาดบ้างก็ตาม

“ไปสนามบินเราไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย แต่มาหมอชิต 2 ต้องระวังตัวอยู่เสมอ” คือเสียงสะท้อนจากผู้ใช้บริการอย่าง น.ส.สิริษา และเธอเคยบอกว่า เคยพบเหตุคนชกต่อยกันในหมอชิต 2-3 ครั้ง

คนขึ้นรถเสริมที่หมอชิต 2

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, บขส. ได้ย้ำให้รถเสริม (รถ30) ติดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน เพื่อแจ้งให้ผู้โดยสารทราบ

น.ส.สิริษา ยังสะท้อนปัญหาที่เธอเจอกับตัวเองว่า ทางสถานีไม่ควรปล่อยให้วินมอเตอร์ไซค์หรือแท็กซี่เข้ามารุมผู้โดยสารที่กำลังลงจากรถ โดยกรณีมักเกิดขึ้นบริเวณชานชาลาผู้โดยสารขาเข้า เนื่องจากเธอมองว่าเป็นการคุกคามผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้หญิงและคนแก่ที่เดินทางโดยลำพัง หรือ ผู้โดยสารที่เพิ่งเข้ากรุงเทพ ฯ ครั้งแรกและไม่รู้ว่าจะต่อรถโดยสารไปยังจุดหมายปลายทางอย่างไร

“เค้าจะเข้ามารุม ถามว่าไปไหม ไปไหน ไปด้วยกันหรือเปล่า เวลาเราเดินทางคนเดียว ก็ต้องระวัง พอลงจากรถแล้วต้องรีบเดินไปเข้ากลุ่มกับผู้โดยสารคนอื่น ๆ ที่มาเป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่แล้วคนที่มารุม เขามักจะคิดราคาแบบไม่เปิดมิเตอร์ หรือเป็นราคาเหมาที่แพงมาก ซึ่งพนักงานเดินรถของ บขส. จะคอยเตือนตั้งแต่อยู่บนรถว่าอย่าไปกับพวกเขา” สิริษา กล่าว

สส.ก้าวไกล จุดประเด็นอะไรบ้าง ครั้งล่าสุด

นายศุภณัฐใช้การโพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่าง เอ็กซ์ (x) ในการอธิบายให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยอ้างอิงถึงจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดมีจำนวนมาก แต่รัฐบาลกลับให้สำคัญกับความปลอดภัยพื้นฐานกับประชาชน

เขาระบุถึงปัญหาที่สถานีขนส่งหมอชิตกำลังเผชิญในขณะนี้มีทั้งหมด 15 ข้อ ซึ่งเป็นปัญหาที่เขาเคยอภิปรายต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมาด้วย อาทิ ปัญหาชานชาลาคุณภาพไม่ดี เป็นหลังคาเปิดโล่ง อากาศร้อน ไม่มีพัดลมและเครื่องปรับอากาศ ทำให้ผู้โดยสารต้องสูดดมควันรถและฝุ่น PM 2.5 ระหว่างรอรถ

ปัญหาบันไดเลื่อนทั้งหมด 5 จุด พังและพังใช้งานไม่ได้ ลิฟต์ไม่มีให้บริหาร ทำให้ประชาชนต้องแบกกระเป๋าขึ้น-ลงกลับบ้านอย่างทุลักทุเล นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องแสงสว่างไม่เพียงพอ สร้างความไม่ปลอดภัย รวมถึงมีพื้นที่ทิ้งร้างจำนวนมาก

ปัญหาป้ายบอกทางไม่ชัดเจน ปัญหาการเชื่อมต่อไปยังขนส่งสาธารณะ เช่น บีทีเอส ซึ่งผิดหลักการการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ส่งผลให้เกิดวินจักรยานยนต์เถื่อนโกงราคาผู้โดยสาร

เขายังพบว่า จุดดับเพลิงของชานชาลาใช้งานได้เพียง 4 จุดจากทั้งหมด 15 จุด ส่วนห้องปฐมพยาบาลและห้องให้นมบุตรก็ไม่เปิดให้บริการ

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน: บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่มาจากภายนอก

สิ้นสุด Twitter โพสต์

บขส. ชี้แจงอย่างไร

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ประธานกรรมการ บขส. และรองปลัดกระทรวงคมนาคม เตรียมแถลงข่าวตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่าง ๆ ของหมอชิต 2 ในเวลา 17.00 น. วันนี้ แต่การแถลงข่าวดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดในท้ายที่สุด ขณะที่ทาง บขส. ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาของนายศุภณัฐผ่านสื่อมวลชน โดยสาระสำคัญประกอบด้วย

ประเด็นบันไดเลื่อนที่ติดตั้งมา 26 ปี ต้องปิดใช้งานในปัจจุบัน เนื่องจากหาอะไหล่มาซ่อมไม่ได้ และถึงแม้ว่าเปิดใช้งานได้ในช่วงเทศกาล ทางบริษัท ฯ ก็จะปิดใช้งาน เพื่อป้องกันอันตรายต่อประชาชนหากมีเหตุคนล้นอาคารชานชาลา

ส่วนลิฟต์ และระบบสาธารณูปโภค เช่น จุดดับเพลิง แอร์ ที่อาคารผู้โดยสาร นั้น ทางบริษัท ฯ ขอยืนยันว่าใช้งานได้ทุกจุด ส่วนห้องปฐมพยาบาลก็เปิดให้บริการตลอด ส่วนห้องให้นมบุตร ผู้โดยสารต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำห้อง เนื่องจากเกรงว่าหากเปิดห้องไว้ตลอด อาจเป็นจุดลับตาและก่อให้เกิดเหตุอาชญากรรมขึ้นได้

สำหรับในส่วนพื้นที่ทิ้งร้างเป็นพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ อยู่นอกอาคาร และเป็นส่วนการให้บริการ เดิมเป็นจุดเชื่อมต่อกับเขตเดินรถที่ 8 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ( ขสมก.) แต่ในช่วงปี 2563-2566 ที่ผ่านมาไม่มีผู้เช่าบริษัทจึงปิดพื้นที่ โดยรื้อสิ่งปลูกสร้างออกทั้งหมดและเตรียมพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่ง หรือ Transportation Hub ตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดการเชื่อมต่อ แบบไร้รอยต่อ โดยอยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำผังและแบบการพัฒนา ให้แล้วเสร็จใน 1 ปี

หมอชิต2

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สำหรับการปราบปรามผู้มีอิทธิพล วินแท็กซี่ มอเตอร์ไซด์เถื่อน บริษัทได้มีหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจับกุมผู้บุกรุก ผู้กระทำความผิดกฎหมาย ในทุกวัน บริษัทจะจัดการขั้นเด็ดขาดต่อผู้กระทำความผิดผู้บุกรุกและดำเนินคดีอาญาอย่างเข้มงวดในทุกรายต่อไป

ในส่วนปัญหาการขาดทุนในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ที่เป็นผลมาจากการเดินทางในระบบรถขนส่งสาธารณะระหว่างเมืองได้รับความนิยมลดลง ตลอดจนประสบปัญหาสถานการณ์โรคระบาดของโรคโควิด-19 บริษัทชี้แจงว่า ปีนี้ บขส. สามารถฟื้นฟูสถานะทางการเงิน โดยไม่มีหนี้สินและพร้อมจะปรับปรุงโครงสร้างอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม

ด้าน น.ส.ระพิพรรณ วรรณพินทุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการเดินรถ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. ชี้แจงกรณีมีผู้ร้องเรียนประเด็นรถโดยสารไม่ประจำทาง หรือรถเสริม (รถ30) ขายตั๋วเกินราคาว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ จะมีประชาชนเดินทางเป็นจำนวนมาก ทำให้รถโดยสารในเที่ยววิ่งปกติ ไม่เพียงพอ บขส.จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถ30) มาวิ่งให้บริการเสริมในเส้นทางต่าง ๆ

"การใช้รถมาตรฐาน 1 พ ทำให้อัตราค่าโดยสารจะสูงกว่าเที่ยวปกติ ประมาณ 15-20 % ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากรถ 30 มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการตีรถเปล่ากลับมารับผู้โดยสาร ทำให้การคิดค่าโดยสารจะคิดในอัตราต้นทางปลายทาง ในเส้นทางสายยาว เช่น กรุงเทพ-เชียงใหม่ แต่หากผู้โดยสารต้องการลงในจังหวัดระหว่าง สามารถเลือกใช้บริการรถเสริมในเส้นทางอื่น เช่น กรุงเทพ-นครสวรรค์ ,กรุงเทพ-โคราช เพื่อเดินทางต่อได้เช่นกัน"

หมอชิต 2

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, บรรยากาศหมอชิต 2 เมื่อเย็นวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ย้อนดูผลประกอบการ บขส. 5 ปี ขาดทุนแทบทุกปี

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า บขส. เคยทำรายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาดหนัก จนถึงตอนนี้รายได้ของ บขส. กลับไม่แตะตัวเลขเดิม

เมื่อพิจารณาผลกำไรและขาดทุนสุทธิในปี 2565 พบว่า บขส.ยังขาดทุนอยู่ที่กว่า 1,150 ล้านบาท และแทบไม่เคยทำกำไรเลยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยกเว้นปี 2562 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.4 ล้านบาท

รายได้

  • ปี 2561 : 3,223 ล้านบาท
  • ปี 2562 : 3,397 ล้านบาท
  • ปี 2563 : 2,246 ล้านบาท
  • ปี 2564 : 1,281 ล้านบาท
  • ปี 2565 : 1,306 ล้านบาท

กำไรหรือขาดทุนสุทธิ

  • ปี 2561 ขาดทุน 181 ล้านบาท
  • ปี 2562 กำไร 1.4 ล้านบาท
  • ปี 2563 ขาดทุน 544 ล้านบาท
  • ปี 2564 ขาดทุน 1,284 ล้านบาท
  • ปี 2565 ขาดทุน 1,154 ล้านบาท

ในรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการประจำปี 2566 ไตรมาส 1-4 (ต.ค. 2565 - ก.ย. 2566) ของ บขส. สรุปประเด็นปัญหาสภาพคล่องทางการเงินไว้ว่า เกิดจากการปรับลดเที่ยววิ่งการเดินรถโดยสาร และการส่งคืนรถเช่าเนื่องจากหมดสัญญา โดยที่ผ่านมาทาง บขส.เปิดเดินรถเส้นทางระหว่างประเทศได้เพียง 9 เส้นทางจาก 15 เส้นทางเท่านั้น

นอกจากนี้ ทางบริษัท ฯ ยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และยังไม่สามารถหาลูกค้าประจำเพิ่มเติมได้ในธุรกิจรับ-ส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ทำให้รายได้ส่วนนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ขณะที่โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใน จ.ชลบุรี ขนาด 5 ไร่ และ พื้นที่สามแยกไฟฉาย กรุงเทพมหานคร ขนาด 3 ไร่ เกิดความล่าช้า เนื่องจากไม่มีผู้สนใจยื่นข้อเสนอเป็นผู้จัดสร้างหรือบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน จนทาง บขส. ต้องประกาศเชิญชวนครั้งที่ 2 เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา และมีเอกชน 2 ราย เข้ายื่นเสนอราคา

ในรายงานยังระบุว่า แม้ว่าค่าใช้จ่ายบุคลากรมีแนวโน้มลดลงในภาพรวม แต่รายได้โดยรวมก็ลดลงเช่นกัน โดยพบว่า ทาง บขส. ยังเผชิญกับต้นทุนค่าใช้จ่ายทางบุคลากรที่สะสมรวมกันประมาณ 831 ล้านบาท ขณะที่บริษัท ฯ มีรายได้รวมสะสมช่วง ต.ค. 2565 - ก.ย. 2566 ที่ประมาณ 1,783 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้เกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ต้องนำไปใช้กับค่าบุคลากร