ชัยธวัช เปรียบก้าวไกลเป็น “ผีที่ไม่รู้จัก” เปิดฉากทัศน์หลังวันตัดสิน 2 คดีสำคัญ

ต๋อม

ที่มาของภาพ, wasawat lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ชัยธวัชระบุว่า โจทย์ใหญ่ของก้าวไกลไม่ได้อยู่ที่ 2 คดี แต่คือ “จะสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้ประชาชนได้อย่างไรว่าก้าวไกลสามารถจะบริหารประเทศได้”
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ชัยธวัช ตุลาธน เปรียบเปรยพรรคก้าวไกลเป็น “ผีที่ไม่รู้จัก” ของระบบการเมืองไทย ฝ่ายอนุรักษนิยม-ฝ่ายการเมืองเก่าจึงเกิดอาการ “กลัวไว้ก่อน” กับข้อเสนอเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และทำให้ก้าวไกลถูกกล่าวหาว่ากระทำการเข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ โดยถือเป็น 1 ใน 2 คดีสำคัญ ที่ศาลจะตัดสินในเดือน ม.ค. นี้

ในระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษบีบีซีไทย หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) วิเคราะห์ฉากทัศน์ก้าวไกลหลังศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย 2 คดีสำคัญ ในวันที่ 24 และ 31 ม.ค. โดยแสดงความเชื่อมั่นว่าคำตัดสินจะออกมาในทิศทางบวกมากกว่าลบ

“ไม่ได้โลกสวย แต่ประเมินว่ามันมีได้หลายฉากทัศน์” ชัยธวัช กล่าวออกตัว ก่อนร่ายเหตุผลสนับสนุนความเชื่อของเขาว่า พัฒนาการทางสังคมการเมืองและความรู้สึกนิดคิดของผู้คน ณ ปี 2562 กับปี 2566-2567 แตกต่างกันมาก ดังนั้นหากคำวินิจฉัยออกมาในลักษณะที่ไม่สามารถอธิบายกับสังคมได้ หรือกระตุ้นให้เกิดการปะทุของความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่น่าพึงประสงค์เท่าไร

คาด พิธา ได้กลับเข้าสภา 25 ม.ค.

24 ม.ค. ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 และอดีตหัวหน้าพรรรค ก.ก. ว่าจะได้กลับเข้าสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ หลังต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ชั่วคราวตั้งแต่ 19 ก.ค. 2566 ในระหว่างศาลพิจารณา “คดีถือหุ้นสื่อ” โดยถูกกล่าวหาว่าถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ในวันสมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ 4 เม.ย. 2566

ชัยธวัช บอกว่า “คุณพิธาไม่ได้คิดว่าทำพลาดอะไร” และ “เชื่อมั่นว่าจะได้รับความเป็นธรรม”

ทิม

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถอดบัตรประจำตัว สส. ออก ก่อนเดินออกจากห้องประชุมรัฐสภา หลังทราบมติศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เมื่อ 19 ก.ค. 2566

ชัยธวัช ซึ่งเป็น สส.สมัยแรก ขึ้นทำหน้าที่ผู้นำพรรคก้าวไกลเมื่อเดือน ก.ย. ปีก่อน ด้วยเหตุผลทางกฎหมายทำให้ พิธา ซึ่งอยู่ระหว่าง “เว้นวรรค” การเป็น สส. ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้

ทันทีที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรค ก.ก. เมื่อ 23 ก.ย. 2566 มีมติเลือก เลขาธิการพรรค (ตำแหน่งขณะนั้น) ขึ้นเป็น หัวหน้าพรรคคนใหม่ ชัยธวัช ประกาศผ่านสื่อว่า “ยินดีจะลงจากตำแหน่งเมื่อคุณพิธาได้กลับมาทำหน้าที่ สส. ในสภาอีกครั้ง” และนี่เป็นเพียงการ “ปรับทัพชั่วคราว” เท่านั้น

สำหรับ 2 ข้อต่อสู้หลักที่ พิธา หยิบยกมาหักล้างข้อกล่าวหาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในคดีถือหุ้นไอทีวีคือ 1. พิธาถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดกของบิดา และได้ปันทรัพย์มรดกนี้ให้น้องชายตั้งแต่ก่อนดำรงตำแหน่ง สส. ปี 2562 และ 2. ไอทีวีสิ้นสุดสถานะความเป็นสื่อมวลชนตั้งแต่ 7 มี.ค. 2550 เนื่องจากถูกสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) บอกเลิกสัญญาร่วมงาน-ยึดคลื่นคืน-ไม่มีรายได้จากการทำสื่อแล้ว

“โดยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย บรรทัดฐานการวินิจฉัยหลายกรณีที่ผ่านมา ก็คิดว่าคุณพิธาน่าจะได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ สส. แน่นอนในวันที่ 25 ม.ค. นี้” ชัยธวัช กล่าว

ต๋อม

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคก้าวไกล

คำบรรยายภาพ, ชัยธวัช ตุลาธน แถลงข่าวเมื่อ 12 มิ.ย. 2566 ตั้งข้อสังเกตว่ามีความพยายาม “ฟื้นคืนชีพไอทีวี” ให้กลับมาเป็นสื่อมวลชน เพื่อสกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลของก้าวไกล

ถ้าก้าวไกลถูกยุบด้วยข้อหาล้มล้างฯ “ไม่ส่งผลดีต่อสถาบัน”

หากแม้ผ่านคดีแรกไปได้ พลพรรคก้าวไกลยังต้องลุ้นกันต่อกับคำตัดสินคดีที่สอง ซึ่งจะสร้างแรงสั่นสะเทือนมากกว่าทั้งต่อสถานะขององค์กรและนโยบายของพรรค

31 ม.ค. ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้อนาคตพรรคก้าวไกล จากกรณีเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่ หรือที่รู้จักในชื่อ “คดีล้มล้างการปกครอง” โดยมี พิธา-ก้าวไกล ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา

เมื่อดูคำร้องของทนายความอดีตพระพุทธะอิสระที่ยื่นต่อศาล ชัยธวัชคิดว่า “คำวินิจฉัยจะไม่ได้ออกมาเป็นทางลบขนาดที่หลายคนกังวลว่าจะไปไกลถึงขั้นเกิดการยุบพรรค” เนื่องจากเป็นเพียงการร้องให้ยุติการกระทำที่กล่าวหาว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง

ในทัศนะของหัวหน้าพรรค ก.ก. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีโอกาสออกได้ 3 แนวทาง ทว่าถ้าฟังสุ้มเสียงของ ชัยธวัช ดูเหมือนจะให้น้ำหนักกับแนวทางที่ 2 และ 3 เป็นพิเศษ

  • ผลออกมาเป็นลบ: สั่งให้ยกเลิกการกระทำ ถ้าศาลเห็นว่านโยบายของพรรค ก.ก. เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
  • ผลออกมากลาง ๆ ค่อนไปทางลบ: ตีกรอบว่าการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 112 มีขอบเขตทำได้แค่ไหน “นั่นอาจเป็นเป้าประสงค์อันดับพื้นฐานก็ได้ว่าอาจจะต้องการแค่ตีกรอบเนื้อหาบางอย่าง”
  • ผลออกมาเป็นบวก: ยกคำร้อง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่กระบวนการนิติบัญญัติคือการเสนอแก้ไขกฎหมายหรือเสนอร่างกฎหมายใหม่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการเสียงข้างมากใน สส. และ สว. และต่อให้ผ่านรัฐสภาไปได้ ก็ยังมีกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญทั้งก่อนและหลังประกาศใช้เป็นกฎหมาย ดังนั้นโดยกระบวนการได้วางกลไกป้องกันไม่ให้ออกกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

“เราพยายามต่อสู้ว่าไม่ได้มีเจตนาบั่นทอน ทำลาย ลดทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ลดการคุ้มครองแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการทำให้การคุ้มครองประมุขของรัฐได้สมดุลได้สัดส่วนกับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และยังคงฐานความผิดนี้อยู่ และคุ้มครองเหนือกว่าบุคคลทั่วไป รวมถึงเจ้าพนักงานของรัฐอื่น ๆ ด้วย เจตนาของเราคือยังต้องการปรับการลงโทษในฐานความผิดนี้ให้มันได้สัดส่วนกับพฤติการณ์การกระทำผิด” ชัยธวัช แจกแจงเจตนาซึ่งเขาใช้โต้แย้งข้อกล่าวหาในคดีนี้

112

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, หนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่ม "ราษฎร" เมื่อ 31 ต.ค. 2564 คือการให้ยกเลิกมาตรา 112

ทว่านั่นคือข้อต่อสู้ทางนิติศาสตร์ ถ้าพิจารณามิติรัฐศาสตร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงต้านในการรื้อมาตรา 112 หนักหน่วงรุนแรง โดยเฉพาะช่วงก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 2566 จึงยากจะคาดเดาถึงเหตุผลที่ “ขั้วอำนาจเก่า” จะปล่อยให้ก้าวไกลดำรงคงอยู่ต่อไป

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พฤติกรรมของ พิธา-ก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ผลที่ตามมาคือ

  • พรรค ก.ก. ไม่อาจเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ต่อสภาผู้แทนราษฎรได้อีกต่อไป
  • คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะเป็น “สารตั้งต้น” ที่นำไปสู่การยื่นคำร้องให้ยุบพรรค ก.ก. ได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) ที่ระบุว่า เมื่อ กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการล้มล้างการปกครองฯ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคนั้น

แต่ในสายตาของหัวหน้าพรรค 14 ล้านเสียง เห็นว่า สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันไม่ง่ายนักที่จะใช้วิธีการเช่นนี้ทำลายพรรค ก.ก. เพราะอาจส่งผลกระทบในเชิงลบมากกว่าเชิงบวกสำหรับคนที่ไม่อยากเห็นก้าวไกลอยู่ในเวทีการเมืองไทยต่อไป

“ถ้าพรรคก้าวไกลถูกยุบด้วยข้อหาทำนองนี้ ก็อาจจะทำให้ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทยกลับมาเป็นประเด็นสำคัญในความขัดแย้งทางการเมืองอีกก็ได้ ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อตัวสถาบันฯ เอง” เขาวิเคราะห์

โต้ “หมกมุ่น 112” มองย้อนเหตุถูก “ถีบออกจากรัฐบาล”

ชาว ก.ก.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ในระหว่างอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล “ประยุทธ์” เมื่อ 22 ก.ค. 2565 เรื่องการดำเนินคดี 112 สส.ก้าวไกลพร้อมใจกันชูภาพของ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ "บุ้ง" และ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ "ใบปอ" ผู้ต้องหาคดี 112 ที่ถูกคุมขังอยู่ในเวลานั้น เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว

ชัยธวัช ปฏิเสธด้วยว่า ชาวก้าวไกล “ไม่ได้หมกมุ่น” กับเรื่อง 112 แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ในฐานะพรรคการเมืองและผู้แทนราษฎรจะทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นคงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่และจะสร้างปัญหาให้การเมืองไทยในอนาคต

“จริง ๆ เรื่องที่เราทำส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวกับสถาบันฯ หรือ 112 ด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่ามันกลายเป็นจุดที่คนโฟกัส เพราะพรรคการเมืองและนักการเมืองที่เป็นอยู่ในอดีตถึงปัจจุบันพยายามไม่พูดถึงมัน ก็เลยกลายเป็นที่สนใจมากกว่า”

“สิ่งที่เราทำไม่ใช่การหมกมุ่นแน่ แต่เรา normalize (ทำให้เป็นปกติ) มันมากกว่า คือทำให้เป็นเรื่องปกติ การพูดถึงเรื่องราวพวกนี้เป็นเรื่องปกติที่ควรทำได้เหมือนกับเรื่องอื่น ๆ เหมือนการพูดเรื่องปฏิรูปที่ดิน พูดเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่พอเราพูดถึงมันขึ้นมา คนดันไปโฟกัสเรื่องนี้ หรือในอีกด้านหนึ่ง บางฝักบางฝ่ายทางการเมืองพยายามเอาเรื่องนี้มาโจมตีดิสเดรดิตเรา แล้วบอกว่าเราหมกมุ่น ไปเบี่ยงเบนเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่า”

ย้อนไปเมื่อ ก.พ. 2564 สส.ก้าวไกล ร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการแก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งหมด รวมถึงมาตรา 112 ด้วย แต่ไม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาชุดที่ 25

ต่อมาในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง 2566 พรรคสีส้มประกาศนโยบายชุด “การเมืองไทยก้าวหน้า” และบรรจุให้การแก้ไขมาตรา 112 เป็นหนึ่งในร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน ก่อนที่ความเคลื่อนไหวนี้จะย้อนกลับมาเป็นจุดสกัดกั้นการเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลของ พิธาและคณะ เมื่อพรรคการเมืองต่าง ๆ สามัคคีกันออกมาตั้งเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล โดยประกาศว่า “ไม่ร่วมกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้มาตรา 112”

โรม

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคก้าวไกล

คำบรรยายภาพ, รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ เป็นผู้แถลงนโยบายการเมืองของพรรคก้าวไกล ในหมวดศาลและกระบวนการยุติธรรม เมื่อ 15 ต.ค. 2566 หนึ่งในนั้นคือการแก้ไขมาตรา 112

“หลังเลือกตั้ง หลายพรรคคุยกับก้าวไกลอีกเรื่องหนึ่ง คนละแบบเลยนะ ไม่พูดถึงกรณี 112 ด้วยซ้ำ ผมก็ยังยืนยันว่าเป็นข้ออ้าง วาระจริง ๆ คือไม่อยากให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาล ดังนั้นไม่ว่าจะมีเรื่องนี้หรือไม่มีเรื่องนี้ เขาก็ต้องสกัด ณ การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และมันเกี่ยวพันกับการกลับบ้านของคุณทักษิณด้วย” อดีต “ผู้จัดการรัฐบาล” ชุดที่ตั้งไม่ได้ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เขาไม่ขอให้ความเห็นว่า การกลับบ้านของ ทักษิณ ชินวัตร และความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล 314 เสียงนำโดยพรรคเพื่อไทย (พท.) เกี่ยวข้องกับภารกิจพิสูจน์ความจงรักภักดีหรือไม่ โดยบอกว่า “คงพูดไม่ได้ และแน่นอนว่าไม่มีหลักฐาน แต่ประเมินว่าเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกัน”

“เอาเป็นว่าก้าวไกลกลายเป็นไพ่ที่ถูกเล่นเพื่อเป้าหมายทางการเมืองของแต่ละฝ่าย ถ้าอยากเป็นรัฐบาล ถ้าอยากได้สิ่งที่อยากได้ รอบนี้ต้องถีบก้าวไกลออกจากการเป็นรัฐบาล” เขาให้ความเห็น

“ผีที่ไม่รู้จัก” vs “หมอผี”

เมื่อพิจารณาเหตุ-ปัจจัยทั้งหมดที่ทำให้พรรค ก.ก. ซึ่งชนะเลือกตั้ง แต่ต้องตกที่นั่งฝ่ายค้าน ชัยธวัช เห็นว่า เป็นเพราะพรรคสีส้มกลายเป็น “ภัยคุกคามร่วม” ของทุกกลุ่มการเมืองเดิมในอดีตไม่ว่าจะอยู่เฉดไหน แม้กระทั่งกลุ่มที่เคยขัดแย้งกันเองก็ยังมาจับมือกันได้

“เราก็คงเป็น ‘สัตว์ประหลาด’ หรือ ‘ปิศาจ’ มาตั้งแต่แรกนะ หมายความว่ามันเป็นสิ่งแปลกปลอม แต่สิ่งที่ต่างออกไปมาถึงปัจจุบันด้วยผลการเลือกตั้ง ความรู้สึกที่มองว่าพรรคก้าวไกลหรือการเมืองแบบก้าวไกล/อนาคตใหม่ เป็นภัยคุกคามมากกว่าที่คิด เมื่อก่อนคนที่อยากจะรักษาสภาวะเดิม หรือ status quo (สถานภาพปัจจุบัน) สังคมไทยเอาไว้ มองเราเป็นแค่ ‘กรวดในรองเท้า’ คือน่ารำคาญ แต่ไม่น่ากังวลมาก แต่วันนี้เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแบบนี้ ก็อาจจะทำให้ถูกมองเป็นภัยคุกคามมากกว่าที่ผ่านมา”

สิ่งที่ผู้นำก้าวไกลอยากสื่อสารถึง “คนที่มองก้าวไกลเป็นภัยคุกคาม” คือ อาจจะหวาดกลัวจนเกินไปว่าก้าวไกลกำลังจะเข้าไปเปลี่ยนอะไรในแบบที่เขาไม่รู้จัก หรือประเมินไม่ออก ประหนึ่ง “ผีที่ยังไม่รู้จัก”

“ถ้าเปรียบคุณทักษิณกับพรรคก้าวไกล คุณทักษิณเป็นผีที่น่ากลัวเหมือนกัน แต่เป็นผีที่รู้จักแล้ว คนส่วนใหญ่อยากเจอผีที่ตัวเองรู้จักมากกว่าผีที่ตัวเองไม่รู้จัก เพราะยังไม่รู้ว่ามีราคาที่ต้องจ่ายอะไรบ้าง อย่างน้อยผีที่รู้จักมันยังพอจะคุมได้ พอจะรู้แล้วว่ามันจะหลอกยังไง แต่ผีที่ยังไม่รู้จักมักจะน่ากลัวกว่าเสมอ”

“อย่างข้อเสนอเรื่อง 112 ในขณะที่เรามองว่าอันนี้จะส่งผลดีต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในระยะยาวด้วยซ้ำ คนอีกส่วนรู้สึกว่าอันนี้กลายเป็นภัยคุกคาม เป็นเรื่องเจตนาที่จะทำลายล้าง บั่นทอน มองต่างกันเลย นี่คืออาการของผีที่เขายังไม่รู้จัก มันเป็นข้อเสนอของผีที่ยังไม่รู้จักไง และเขาไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง ก็ต้องกลัวไว้ก่อน”

ถ้าเช่นนั้นนี่อาจเป็นจังหวะอันดีที่จะจับ “ผีที่ไม่รู้จัก” ลงหม้อ-ถ่วงน้ำ?

“บางทีผีมันไม่ได้จับถ่วงน้ำกันได้ง่าย ๆ นะ มันย้ายร่างได้ จิตวิญญาณมันยังอยู่” เขาตอบ ก่อนระเบิดหัวเราะยาวนาน

ปราศรัย

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคก้าวไกล

คำบรรยายภาพ, แกนนำคณะก้าวหน้า-ก้าวไกล ขึ้นเวทีปราศรัยปิดในสนาม กทม. ก่อนเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566

หัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้าแสดงความเห็นใจฝ่ายอนุรักษนิยมต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ เพราะ “ไปทางขวาก็ไม่ได้ ไปทางซ้ายก็ไม่ดี”

“ถ้าพิจารณาพลังการเมืองแบบก้าวไกล/อนาคตใหม่ จะปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไรก็ไม่ได้ จะไปทำอะไรที่ทำลายในลักษณะที่ไม่มีความชอบธรรมก็ไม่ได้อีก มันเป็น dilemma (ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก) เป็นเขาควายอยู่ ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ ไม่รู้จะดีลกับผีที่ไม่รู้จักยังไง”

แล้วถ้า “หมอผี” เรียกไปเจรจาจะยอมไปหรือไม่ บีบีซีไทยถาม

นี่เป็นอีกครั้งที่ ชัยธวัช หัวเราะในลำคอ ก่อนอธิบายว่า การพูดคุยหรือพยายามหาสิ่งที่รับกันได้กับฝ่ายที่เห็นต่างหรือไม่อยากให้ก้าวไกลมีอยู่ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ แต่ขอพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป เช่น ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง จะผลักดันสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อได้พูดคุยกับคนที่ไม่เห็นด้วยแล้วชี้ให้เห็นด้านบวกของมัน

“ผมไม่รู้จะเรียกว่าเป็นการคุยกับหมอผีไหม แต่เอาว่าถ้าเราทำอะไรก็ตาม แล้วประชาชนเห็นว่าไม่มีเหตุผลที่ต้องมีพรรคการเมืองอย่างนี้อยู่แล้ว ทำเหมือนคนอื่น ๆ มันก็คือจบของเรา ผีก็คงต้องไปเกิดใหม่”

ชัยชนะทางการเมือง กับ เส้นทางสู่ทำเนียบฯ

หากถามว่า 6 ปีของอนาคตใหม่/ก้าวไกล คิดว่าพรรคมาถึงจุดที่ “ชนะ” หรือ “แพ้” ในทางการเมือง

ชายที่อยู่ในวงแรก-วันแรกของการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ร่วมกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค อนค. และ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรค อนค. บอกว่า “ชนะไหม คงจะยังพูดอย่างนั้นไม่ได้” แต่คิดว่ามีความก้าวหน้าในแง่ของการได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้นสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนเห็นว่าการเมืองแบบอนาคตใหม่/ก้าวไกล ชนะได้ในการเมืองที่เป็นจริง และประชาชนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญผ่านระบบเลือกตั้งได้

แม้พรรค ก.ก. ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งด้วยยอด สส. 151 คน, มีโหวตเตอร์เพิ่มขึ้นจาก 6.2 ล้านเสียงในปี 2562 เป็น 14.4 ล้านเสียงในปี 2566, ใช้กลยุทธ์หาเสียงฉีกไปจากตำราเลือกตั้งแบบเดิม ไปจนถึงการเข้าไปเปลี่ยนวิธีทำงานในสภาล่าง ทว่าเมื่อดูบรรทัดสุดท้ายของการ “ไม่ได้บริหารประเทศ” ถือเป็นความพ่ายแพ้หรือไม่

ชัยธวัช ไม่ยอมรับคำว่า “แพ้” โดยระบุว่า อย่างน้อยที่สุดเราชนะการเลือกตั้งได้ เราเป็นพรรคอันดับหนึ่งได้ แม้จะทำงานการเมืองในแบบที่ต่างจากอดีต ต่างจากความเชื่อในอดีตก็ตาม

ถึงวันนี้ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านมองทะลุผ่าน 2 คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินไปแล้ว เพราะโจทย์ในการทำงานของก้าวไกลคือ “จะสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้ประชาชนได้อย่างไรว่าก้าวไกลสามารถจะบริหารประเทศได้”

นั่นเท่ากับว่า ภารกิจของผู้นำคนที่ 2 ของพรรค ก.ก. วัย 45 ปี คือการพาก้าวไกลมุ่งสู่ทำเนียบรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

“เราต้องเตรียมความพร้อมให้ตัวเองถ้าเมื่อไรที่เราได้รับความไว้วางใจจากประชาชน” เขาบอก

ปชช.เลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ไม่ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญใน “คดีหุ้นไอทีวี” และ “คดีล้มล้างการปกครอง” จะเลวร้ายเพียงใด การลงสู่ท้องถนนจึงไม่ใช่ทางเลือกของนักการเมืองก้าวไกล โดยเฉพาะเมื่อผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดชี้ว่าพรรคสีส้มชนะในคูหาได้

“คงเป็นบทบาทหลักของประชาชนที่จะตัดสินใจเอาเอง แต่สำหรับพวกเรา ถ้าเราถูกทำลาย สิ่งที่เราทำก็คงต้องเป็นการฟื้นพรรคขึ้นมาใหม่ และเราเชื่อว่าเรามีศักยภาพในการฟื้นได้อย่างรวดเร็วมากกว่าปี 2563 เยอะ”

ชัยธวัช เชื่อว่า พรรคการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยนี้ เพราะการต่อสู้กันระหว่างอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งกับอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแสดงออกผ่านสภา และยังเป็นแกนนำกลางในความขัดแย้งอยู่ ดังนั้นการสร้างพรรคการเมืองเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่ละทิ้งไม่ได้

เมื่อถามย้ำว่า จะไม่เห็นแกนนำก้าวไกลผันตัวไปเป็น “แกนนำม็อบ” ใช่หรือไม่

“เราไม่รู้หรอกว่าสถานการณ์ในข้างหน้ามันจะเกิดอะไรขึ้น จะถึงจุดที่เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือไม่เป็นนักการเมืองไม่ควรยอมรับหรืออดทนต่อมัน ยกตัวอย่าง สมมติมีการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง ผมว่าอันนี้เราต้องออกมาปกป้องชีวิตร่างกายของประชาชน ไอ้ที่บอกไม่แน่ เพราะว่าเราไม่รู้” เขาให้ความเห็นทิ้งท้าย

ข้าม YouTube โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน: บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่มาจากภายนอก เนื้อหาจาก YouTube อาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์