ขบวนเสด็จฯ: สภาถกญัตติด่วน กรณีขบวนเสด็จฯ อภิปรายอะไรกันบ้าง

thai news pix

ที่มาของภาพ, thai news pix

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง แสดงหมายจับ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ในข้อหา ม.116 - พ.ร.บ.คอมฯ กรณีที่ถูกกล่าวหาว่ารบกวนขบวนเสด็จฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง แสดงหมายจับ สายน้ำ ในคดีพ่นสีบนกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 13 ก.พ.

การพิจารณาญัตติด่วนของสภาผู้แทนราษฎร กรณีการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ กลายเป็นเวทีอภิปรายปัญหาความเห็นต่างต่อประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังจาก สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เสนอญัตติให้รัฐบาลทบทวนระเบียบ แผนและมาตรการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ

วันนี้ (14 ก.พ.) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาจำนวน 2 ญัตติ ต่อสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง "การขอให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย ทบทวนระเบียบ แผนและมาตรการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้เหมาะสมทันสมัย มีการฝึกซ้อม และประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชนเพื่อเป็นการถวายความปลอดภัยให้สมพระเกียรติ และรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ"

นายเอกนัฏ เริ่มต้นการเสนอญัตติ ด้วยการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เขาระบุว่า เป็นเหตุการณ์ "รบกวน" ขบวนเสด็จฯ ที่อยู่ระหว่างเดินทางเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ว่าหลังเกิดเหตุ ได้ติตตามผ่านสื่อมวลชน เมื่อได้เห็นคลิป "รู้สึกตกใจ" กับเหตุการณ์ที่มีผู้ก่อเหตุพยายามขับรถวิ่งไล่ขบวนเสด็จฯ จนรถปิดท้ายขบวนต้องมากันรถที่ก่อเหตุไป

เขากล่าวว่า ในคลิปวิดีโอ ซึ่งปรากฏเจ้าหน้าที่สนทนากับผู้ก่อเหตุ แม้เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่อาจเกรงว่าอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่โยงกับการเมือง แต่นั่นคือการปฏิบัติหน้าที่อย่างลักลั่น ไม่ระงับพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุทันที อีกทั้งเหตุการณ์นี้เกิดตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. และต่อมาในวันที่ 10 ก.พ. ได้มีการไปทำกิจรรมเปิดโพลแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ ที่สถานีบีทีเอสสยามอีก สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่บังคับใช้กฎหมายล่าช้าเกินไป

สส.รวมไทยสร้างชาติ เห็นว่า ระเบียบและแผนที่มาพร้อมกับ พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นระเบียบชุดเก่าที่ออกมาตั้งแต่ปี 2548 ควรมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ความขัดแย้งและนิยามของภัยคุกคามต่อขบวนเสด็จฯ หากไม่มีการทบทวนมาตรการให้เข้มงวดก็จะกลายเป็น "ค่านิยม" หรือ "แฟชั่น" และทำให้สถานการณ์บานปลายมากกว่านี้

"ถ้าเรายังปล่อยปละละเลย ถ้าเราไม่เข้มงวดกับเหตุกาณ์แบบนี้ อาจจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่นำไปสู่การปะทะกันของประชาชน เกิดความแตกแยก ที่ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้น" นายเอกนัฏ กล่าว

เอกนัฏ

ที่มาของภาพ, โทรทัศน์รัฐสภา

จุรินทร์ ขยายประเด็น จี้รัฐบาลไม่เสนอนิรโทษกรรม คดี ม.112

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเสนอญัตติดังกล่าวด้วยเหตุผลที่ว่า เขาและพรรค ปชป. มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องการให้ความสำคัญกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีจุดยืนว่าการถวายความปลอดภัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนไม่ได้ประสงค์ทำให้กรณีของเหตุการณ์ "คุกคาม" ขบวนสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กลายเป็นเรื่องการเมือง แต่เห็นว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี "ออกมาแสดงท่าทีและความรับผิดชอบ ค่อนข้างช้าจริง ๆ"

เขากล่าวว่า รัฐบาลควรเร่งรัดดำเนินการทบทวนมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาอีก และต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับไม่ว่ากับฝ่ายใด เพื่อไม่ให้เป็นการส่งเสริมการกระทำผิดกฎหมายอีกในอนาคต พร้อมแสดงจุดยืนว่า รัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมาก ต้องไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมทั้งต้องเพิ่มบทลงโทษเป็นการเฉพาะต่อผู้ที่ละเมิดกฎหมาย พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย โดยนำบทบัญญัติกฎหมายอื่นมาเทียบเคียงบังคับใช้ เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116

"รัฐบาลต้องไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมความผิดในคดีมาตรา 112 เพราะจะเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และยังเท่ากับเป็นการส่งเสริมการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เข้าไปอีก และเมื่อเกิดเหตุขบวนเสด็จฯ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ยิ่งไม่ควรนิรโทษกรรมความผิดมาตรานี้" นายจุรินทร์ กล่าว

ilaw

ที่มาของภาพ, ilaw

คำบรรยายภาพ, เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน กำลังรณรงค์ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ซึ่งรวมทั้งผู้ถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 112 ด้วย

สส.ก้าวไกล เสนอสร้างพื้นที่ปลอดภัยพูดเรื่องสถาบันฯ

ในการอภิปรายแสดงความเห็นต่อญัตติด่วนดังกล่าวของ สส.ก้าวไกล (กก.) นอกจากการทบทวนแผนและมาตรการการถวายการอารักขา หลายคนเปิดการอภิปรายว่า ต้องมีการเร่งสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรค กก. กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า การถวายความปลอดภัยของขบวนเสด็จ ไม่ต่างจากการดูแลความปลอดภัยให้กับราชอาคันตุกะหรือประมุขของรัฐอื่น ถือเป็นกระบวนการปกติที่รัฐบาลจำเป็นต้องมีกระบวนการถวายการอารักขา

สส.ก้าวไกล กล่าวว่า กระบวนการในการอารักขาในการเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ ในครั้งนี้ก็เป็นกระบวนการตามปกติ ดังนั้น การรบกวนการอารักขาที่เป็นมาตรฐานและเป็นปกติ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักอยู่อยู่เสมอ คือการพยายามทำให้กระบวนการการอารักขามีประสิทธิภาพสูงที่สุด ส่งผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด โดยทางออกที่เป็นรูปธรรมคือการทบทวน มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 ให้มีการคำนึงถึงประชาชนและเตรียมแผนเท่าที่จำเป็น เพื่อให้การอารักขาและรักษาความปลอดภัยมีประสิทธิภาพสอดรับกับยุคสมัย และไม่ส่งผลกระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์

tnp

ที่มาของภาพ, thai news pix

คำบรรยายภาพ, สส. จากพรรครัฐบาลหลายคน สวมเครื่องแต่งกายที่มีสีม่วง มาร่วมประชุมสภาในวันนี้ (14 ก.พ.)

นายวิโรจน์ ยังกล่าวถึงกรณีการใช้ความรุนแรงโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันฯ ว่า "เป็นพฤติกรรมที่ทำร้ายสถาบันฯ ที่สุด" หากรัฐบาลปล่อยให้คนกลุ่มนี้ทำร้ายคนที่คิดต่างโดยไม่ใช้กฎหมายกับคนกลุ่มนี้ ในระยะยาวมีแต่จะทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสียเกียรติยศและส่งผลในทางลบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนและสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด ดังนั้น จึงต้องเร่งสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้การพูดคุยเป็นไปอย่างมีวุฒิภาวะ เป็นเรื่องปกติ ไม่มีการมาจับผิด ไม่มีใครมาแฝงตัวหรือใช้กฎหมายในการกลั่นแกล้ง รังแกกัน

"เราใช้น้ำมันดับไฟไม่ได้ ความรุนแรง ไม่เคยแก้ไขความรุนแรงได้ มีแต่จะทำให้บานปลาย ทุกความขัดแย้งบนโลกนี้ ล้วนแก้ไขด้วยการพูดคุย"

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การหาสมดุลเกี่ยวกับเรื่องขบวนเสด็จฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความรู้สึกของยุคสมัยที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่อีกด้าน รัฐบาลก็จำเป็นต้องทำให้การรักษาความปลอดภัยรัดกุม และไม่มีข้อบกพร่อง ซึ่งเป็นภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศ ที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจะล้มเหลวไม่ได้

อย่างไรก็ดี พริษฐ์ชี้ว่า อีกมุมหนึ่ง หากรัฐสภาหันไปปรับมาตรการแบบฉับพลันและไม่สมส่วน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างถี่ถ้วน จะเกิดความเสี่ยงว่าหากประชาชนไม่พอใจกับมาตรการใหม่ ความไม่พอใจดังกล่าวอาจจะขยายวงและกระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้

"เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่ปล่อยให้ประชาชนไปจัดการแก้ไขปัญหากันเองโดยการใช้อำนาจนอกกฎหมาย แต่เวลานี้คือเวลาของการพิสูจน์ความเป็นผู้นำของพวกเราทุกคน ในการร่วมกันสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ ด้วยการหาทางออกจากความขัดแยังอันเปราะบางนี้ ก่อนที่ปัญหาทั้งหมดจะลุกลามไปไกลกว่าที่เป็นอยู่"

tnp

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

วิวาทะ โรม-ชาดา หลังเปิดภาพคู่กลุ่ม "อาชีวะราชภักดี" กลางสภา

ในการอภิปรายช่วงหนึ่ง ยังมีการตอบโต้กันระหว่างนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย (ภท.) หลังจากนายรังสิมันต์ อภิปรายถึงกลุ่มประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มอาชีวะราชภักดี" ซึ่งโพสต์ภาพและข้อความในโซเชียลมีเดีย ข่มขู่จะจัดการกับนักเคลื่อนไหว โดยภาพที่ประกอบการอภิปรายเป็นภาพที่กลุ่มดังกล่าว ถ่ายคู่กับนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยไม่มีการเบลอหน้า

นายรังสิมันต์ อภิปรายต่อว่า มีอีกหลายข้อความที่ถูกกล่าวขึ้นโดยบุคคลสำคัญ แม้กระทั่งนายชาดา พูดถึงการเนรคุณแผ่นดิน มีการปลุกปั่นให้สถานการณ์ร้ายแรงเกินกว่าความเป็นจริงมาก และทำให้คนทั้งสังคมไม่รู้สึกปลอดภัย รัฐจะสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยได้อย่างไร

"ในเมื่อสุดท้ายผีที่สร้างขึ้นมามันมาจากพวกท่านเอง ถ้ายังปล่อยให้สถานการณ์บานไปเรื่อยๆ หากไม่มีการดึงสติแล้วคำขู่เกิดขึ้นจริงใครจะรับผิดชอบ และสุดท้ายผู้ที่ใช้ความรุนแรง แล้วไม่ต้องรับผิดชอบอะไร คนจะครหาว่ารัฐบาลเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังคนเหล่านี้ ขออย่าให้ไปถึงจุดนั้นเลย"

ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย (ภท.)

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ตอบโต้การอภิปรายของรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อย่างดุเดือด หลังจากสไลด์การอภิปรายของรังสิมันต์ ปรากฏรูปถ่ายที่พาดพิงว่า นายชาดาเกี่ยวข้องกับกลุ่ม "อาชีวะราชภักดี"

การปรากฏภาพของนายชาดาระหว่างการอภิปราย ทำให้นายชาดาลุกขึ้นประท้วงว่า มีสมาชิกท่านหนึ่งนำรูปของตนมาอภิปราย ซึ่งเป็นภาพที่ประชาชนมาขอถ่ายรูปในวันเลือกนายกฯ จำนวนมาก การที่ผู้อภิปรายนำรูปนี้มาแสดงเป็นส่อเจตนาไม่ดีอย่างมาก สร้างความแตกแยกและสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน

นายชาดา ยังตำหนิประธานสภาในที่ประชุม ซึ่งขณะนั้นนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กำลังทำหน้าที่เป็นประธาน โดยนายชาดา กล่าวว่าประธานในที่ประชุมอนุญาตให้มีการเสนอแบบนี้ได้อย่างไร แล้วถ้าตนจะเสนอแบบนี้บ้างจะมีปัญหาหรือไม่ พร้อมชี้ว่า ประธานต้องมาขอโทษตนเองในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ถูกต้องและไม่เป็นกลาง

สส.พรรคภูมิใจไทย กล่าวต่อด้วยว่า ญัตตินี้เป็นเรื่องของการอารักษ์ขาขบวนเสด็จที่ทำร้ายจิตใจประชาชน แต่กำลังเอาเรื่องนอกประเด็นผลของการกระทำเด็กหรือใครก็ตามกี่ครั้งแล้วที่ทำผิดกฎหมายเข้ามา

"การแสดงออกด้วยหัวใจคนไทยไม่มีปัญหา แต่มันมีขบวนการในประเทศนี้ที่จะล้มล้างที่จะบั่นทอน อย่าพูดว่าไม่มี ถ้าทำกับผมแบบนี้ พูดกับผมแบบนี้ เดี๋ยวผมจะพูดให้หมด" นายชาดากล่าว พร้อมบอกว่า เขาพร้อมจะถ่ายรูปกับคนทุกคนที่ปกป้องสถาบัน "แต่เขาจะเอาไปทำอะไรผมไม่รู้ผมไม่เกี่ยว"

ด้านนายรังสิมันต์ ชี้แจงว่าภาพที่นำเสนอ ได้มีการยื่นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างถูกต้องและเข้าใจว่าจะมีการพิจารณาตามระบบซึ่งเป็นอำนาจของประธานเป็นผู้พิจารณาคนสุดท้าย พร้อมยังขอให้นายชาดา ใจเย็น ๆ เพราะการขึ้นรูปไม่ได้ปรักปรำว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง หรือปรักปรำนายชาดาเพิ่มเติม อีกทั้งกรณีแบบนี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่านักการเมือง สามารถถูกโยงไปยังกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ตลอดเวลา ทั้งที่การกระทำอาจไม่ถึงขนาดนั้น จึงขอให้มีสติ ทำให้นายชาดา ตอบโต้นายรังสิมันต์อีกครั้งว่า การกระทำบ่งบอกถึงเจตนาที่ไม่ดีชัดเจน

"ผมรู้สึกว่าเจตนาของท่านพยายามเชื่อมโยงว่าผมอยู่เบื้องหลัง ถ้าผมอยู่เบื้องหลังจริงจะสนุกกว่านี้ ผมบอกได้เลยครับ ขออย่าให้มีพฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นในสภาอีก" นายชาดากล่าว พร้อมระบุถึงประเด็นขบวนเสด็จฯ ด้วยว่า "คนไทยทุกคนรับได้ มีแผ่นดินอยู่ มีแผ่นดินคุ้มกะลาหัว ถ้ารับไม่ได้ ไปอยู่ประเทศอื่น"

ชัยธวัช ชี้ ไม่ใช่แค่ทบทวนแผนถวายความปลอดภัย แต่ต้องแก้ความขัดแย้งทางการเมือง

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ก.ก. และผู้นำฝ่ายค้าน เปิดอภิปรายว่า สิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันในประเด็นที่เกิดขึ้น ได้แก่ การรักษาความปลอดภัยให้บุคคลสำคัญ ประมุขของรัฐ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประมุขของรัฐจากต่างประเทศ เป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องปฏิบัติสากล นอกจากนี้ พวกเราเห็นตรงกันว่า ขบวนเสด็จฯ ของกรมสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ดำเนินการไปอย่างเหมาะสมแล้ว อย่างน้อยในแง่ที่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนเกินสมควร และต่างเห็นตรงกันว่า เราไม่อยากจะเห็นเหตุการณ์อย่างวันที่ 4 ก.พ. เกิดขึ้นอีก

นายชัยธวัช กล่าวถึงการเสนอญัตติของนายเอกนัฏว่า ที่ยอมรับว่าเกิดความโกรธในช่วงแรกจากกรณีขบวนเสด็จฯ แต่หลังจากนั้นสามารถสงบสติอารมณ์ได้ และหาวิธีบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เหตุการณ์นี้นำไปสู่การบานปลายของความขัดแย้งทางการเมืองที่ใหญ่โตกว่านี้

อย่างไรก็ตาม นายชัยธวัช กล่าวว่า ในการพิจารณามาตรการถวายความปลอดภัย ที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 4 ก.พ. ไม่สามารถจะพิจารณาเฉพาะเรื่องกฎหมาย ระเบียบ และแผนการอารักขาความปลอดภัยได้อย่างเดียวเท่านั้น

tnp

ที่มาของภาพ, thai news pix

ผู้นำฝ่ายค้านจากพรรค ก.ก. ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เขาบอกว่าเป็น "เหตุการณ์ที่กระทบต่อการถวายความปลอดภัยต่อพระบรมวงศานุวงศ์อย่างรุนแรงที่สุดก็ว่าได้" โดยเขาระบุถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2520 ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ลอบทำร้ายในหลวง รัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ที่เสด็จไปด้วยระหว่างการเสด็จพระราชดำเนิน ที่ จ.ยะลา เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงกว่าเหตุการณ์วันที่ 4 ก.พ. หลายเท่า เกิดความปั่นป่วนในขบวนเสด็จและเกิดการวางระเบิดใกล้ที่ประทับของพระองค์

ชัยธวัช กล่าวต่อไปว่า นี่เป็นตัวอย่างว่าเหตุการณ์ในวันนั้น ถ้าจะแก้เรื่องการถวายความปลอดภัย ไม่สามารถพิจารณาเฉพาะกฎหมายและแผนมาตรการเท่านั้น เพราะสุดท้าย ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนั้น

"เหตุการณ์เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยหลายครั้งหลายกรณี จึงเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางความคิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"

ผู้นำฝ่ายค้าน ระบุว่า หลังจากเหตุการณ์ครั้งดังกล่าว ได้มีการใช้วิธีทางการเมืองเข้ามาจัดการ โดยกลุ่มฝ่ายขวา ได้แก่ กลุ่มกระทิงแดง พยายามใช้เหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ ปลุกปั่น กล่าวหาโจมตี ว่ารัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ไม่มีความจงรักภักดีเพียงพอ จนกระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารหลังจากนั้นในอีกไม่กี่เดือน

"นี่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัย อันเกิดจากการก่ออาชญากรรมเพื่อหมายปองทำร้ายพระบรมวงศานุวงศ์ แต่มันเป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และความขัดแย้งทางความคิด มันต้องยอมรับตรงนี้ก่อน ถึงจะพิจารณาอย่างรอบด้าน"

นายชัยธวัช ระบุว่า วันนี้คงไม่ใช่วาระที่จะมาพูดเรื่องการแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างละเอียด แต่กรณีของ น.ส.ทานตะวัน นักกิจกรรมกลุ่ม "ทะลุวัง" ต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ออกมาแสดงออกทางการเมือง ด้วยการทำโพล และเลือกตัดสินใจ "ตะโกน" ก่อนนำมาสู่สถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา

"นี่เป็นบทเรียนอย่างหนึ่งที่เราต้องพิจารณาต่อจากนี้ รวมทั้ง ผมคิดว่าคนที่กำลังตะโกนก็ควรจะไตร่ตรองว่าวิธีการอะไรที่จะทำให้คนเปิดใจฟังพวกเรามากขึ้นด้วย การตระโกนและไม่มีใครฟัง อาจเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเช่นกัน"

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังแนะนำรัฐบาลด้วยว่า นอกจากข้อเสนอเรื่องการทบทวนกฎหมาย ระเบียบ และแบบแผนต่าง ๆ แล้ว สิ่งที่ฝ่ายบริหารทำได้คือกุศโลบายทางการเมือง เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ควรจะจัดการสถานการณ์ด้วยการผลักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้สุดขั้วไปมากกว่านี้

"สุดท้ายผมก็หวังว่ารัฐบาลของเรา สมาชิกผู้แทนราษฎรของเราจะมีสติ ระงับความโกรธอย่างที่ท่านเจ้าของญัตติเปิดเอาไว้ตั้งแต่แรก แล้วใช้กุศโลบายทางการเมืองแก้ปัญหา อย่าผลักใครให้สุดขั้วไปมากกว่านี้ แล้วเพิ่มพื้นที่ตรงกลางให้มากที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกันสามารถที่จะหาจุดร่วมกันได้" นายชัยธวัชกล่าว

ในช่วงท้าย ที่ประชุมมีมติให้ส่งเนื้อหาของญัตติและหลักฐานต่าง ๆ ให้รัฐบาลและคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามญัตติของนายจุรินทร์ และส่งเอกสารให้คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ตามข้อเสนอของพรรค ก.ก. พิจารณาต่อไป

เกิดอะไรขึ้นในกรณีขบวนเสด็จฯ

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 เวลาราว 18.30 น. บัญชีเฟซบุ๊ก Tawan Tantawan ของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ได้เผยแพร่วิดีโอที่แสดงให้เห็นช่วงเวลาที่รถยนต์ที่เธอโดยสาร จอดอยู่บริเวณทางลงทางด่วนใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและมีการบีบแตร โดยมีรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดการจราจรเพื่อถวายความปลอดภัยต่อขบวนเสด็จฯ ที่ใช้ทางร่วมต่างระดับมักกะสัน

วิดีโอดังกล่าวบันทึกช่วงเวลาที่ น.ส.ทานตะวัน พร้อมกับบุคลที่สามที่นั่งมาในรถยนต์คันดังกล่าวมีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถยนต์ที่ปิดถนนออก ฝั่งรถยนต์ของ น.ส.ทานตะวัน จึงขับไปอีกทาง และวิดีโอจบลงด้วยความยาวราว 2.55 นาที

ต่อมาในวันที่ 7 ก.พ. บัญชีเฟซบุ๊กของ น.ส.ทานตะวัน ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอเพิ่มเติม ซึ่งเป็นวิดีโอจากกล้องหน้ารถที่ น.ส.ทานตะวันโดยสาร โดยแสดงให้เห็นภาพเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการปิดถนน ก่อนที่รถยนต์ที่ น.ส.ทานตะวันนั่งจะเดินทางผ่านจุดดังกล่าวและขับรถยนต์ต่อด้วยความเร็วบนทางด่วน จนไปถึงจุดทางลงทางด่วนใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเกิดการปะทะคารมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจดังที่ปรากฏในคลิปที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ก.พ.

ต่อมาวันที่ 10 ก.พ. น.ส.ทานตะวัน ได้จัดกิจกรรมทำโพลตั้งคำถามเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม ในเวลาราว 12.30 น. โดยในขณะที่เธอกำลังจัดกิจกรรมอยู่นั้น ได้เกิดเหตุการณ์ชุลมุนขึ้น เมื่อสมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้ปะทะกับกลุ่มนักกิจกรรมที่มาพร้อมกับ น.ส.ทานตะวัน จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพาตัว น.ส.ทานตะวัน ออกไปที่สถานีตำรวจปทุมวัน เพื่อควบคุมสถานการณ์

ทั้งนี้ น.ส.ทานตะวัน ได้กล่าวขอโทษที่ขับรถเร็วในเหตุการณ์ดังกล่าวจนอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ด้วย