สิ้นปีแห่งสิ้นหวังของคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ กับการต้อนรับปีใหม่อุทกภัยใหญ่ในรอบ 50 ปี

"สิ้นปีที่ไม่มีบ้าน ก็ไม่แย่เท่าอีกนานเท่าไหร่กว่าจะได้เริ่มสร้างใหม่" อิสมาแอ เปาะเกะ จ.นราธิวาส

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, "สิ้นปีที่ไม่มีบ้าน ก็ไม่แย่เท่าอีกนานเท่าไหร่กว่าจะได้เริ่มสร้างใหม่" อิสมาแอ เปาะเกะ จ.นราธิวาส
  • Author, ทีมข่าวพิเศษภาคใต้
  • Role, บีบีซีไทย

ชายคนหนึ่ง เกือบต้องเสียภรรยาไปกับสายน้ำ คุณแม่ที่ตะโกนตามหาลูกกลางสายน้ำที่พุ่งสูง และลูกสาวที่กลับบ้านเกิด หวังเฉลิมฉลองต้อนรับปี 2567 กับครอบครัว แต่ต้องมาเจอพ่อแม่กลายเป็นผู้ประสบภัย นี่คือบรรยากาศส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในขณะที่คนกรุงเทพฯ เฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ บ้างก็เดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่ออยู่พร้อมหน้ากับครอบครัว แต่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับต้องส่งท้ายปีด้วยความทุกข์จากอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในรอบ 50 ปี และแทบไม่กล้าคาดหวังถึงสิ่งดี ๆ ในปี 2567

หากเปิดสังคมออนไลน์ในช่วงส่งท้ายปีเก่าเช่นนี้ มักจะพบเห็นเพื่อนและญาติมิตร โพสต์รีวิวว่า พ.ศ. 2566 มีเรื่องดีเรื่องร้ายอย่างไร และตั้งเป้าหมายสำหรับศักราชใหม่ 2567

บีบีซีไทยจึงลงพื้นที่สำรวจความเสียหายใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อมสอบถามเหล่าผู้ประสบภัยถึงสิ่งที่คาดหวังในปี 2567 ในวันที่แม้น้ำจะลดลงแล้ว แต่ก็เหลือทิ้งไว้แต่ซากบ้านเรือน และอนาคตที่ไม่แน่นอน

ผมทำภรรยาหลุดมือ ลอยไปกับสายน้ำ

มันเป็นตอนที่ฟ้ามืดแล้ว ของวันที่ 25 ธ.ค. 2566 คลื่นน้ำสีเหลือง และหม่นเข้มแทบเหมือนโคลน สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระดับเข่า ตอนนั้นเองที่ อิสมาแอ เปาะเกะ อายุ 56 ปี ตัดสินใจพาภรรยาอพยพออกจากบ้านใน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ทั้งที่ทุกปี น้ำไม่เคยท่วมมาถึงบ้านตนเองเลย

.

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ภรรยาของอิสมาแอ อายุ 63 ปี เดินไม่ค่อยได้ ต้องนำตัวลงถังน้ำ เพื่อหนีน้ำที่เพิ่มสูง

แต่ดูเหมือนการตัดสินใจของ อิสมาแอ จะช้าเกินไป เพราะไม่กี่นาทีต่อจากนั้น น้ำเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องและเร็วมาก เขาพาภรรยาวัย 63 ปีที่เดินไม่ได้ ใส่ในถังลอยน้ำ และดันถังทวนกระแสน้ำที่เชี่ยวกราด

ใจเขาแทบสลาย เมื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เขาทำภรรยาหลุดมือ

“เสียงร้องของภรรยาผมที่สิ้นหวัง ทำเอาผมแทบขาดใจ” อิสมาแอ ย้อนความรู้สึกในวันนั้น ที่เกือบต้องเสียภรรยาไปตลอดกาล

“แต่โชคดีที่พระผู้เป็นเจ้ายังอยากไว้ชีวิต นำภรรยาผมไปติดไว้กับเสาไฟข้างบ้าน ผมจึงรีบลงไปคว้าภรรยาไว้ทันที” จากนั้น เขาก็ดันตัวภรรยาขึ้นไปที่ปลอดภัย

.

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, สภาพบ้านหลังจากที่โดนกระเเสน้ำซัด ต้องนำตาข่ายมาทำเป็นผนังบ้านชั่วคราว

เวลานี้ ระดับน้ำในพื้นที่ระแวกบ้านของเขาลดลงแล้ว แต่เมื่อกลับไปสำรวจความเสียหาย ก็พบแต่ “ซาก” ของบ้านที่เหลือเพียงเสาและหลังคา ส่วนผนังอิฐ พื้นไม้ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งของเครื่องใช้ก็ถูกคลื่นโคลนซัดลอยน้ำไปไม่รู้ไปหยุดที่แห่งใด เหลือเพียงหลังคาที่อย่างน้อยเป็นที่ร่มให้พักพิงได้ชั่วคราว

ครอบครัวที่อาศัยอยู่กัน 5 ชีวิต ทำได้เพียง นำตาข่ายที่มีคนบริจาคมาพันรอบบ้านให้เป็นผนังกำบังลม แต่ก็ป้องกันได้ไม่มาก กลางคืนอากาศก็เย็นยะเยือก

“มันเป็นช่วงสิ้นปีที่เหลือแค่ชีวิตของ 5 คน เริ่มใหม่ปีหน้า ก็มีค่าเท่ากับติดลบ” อิสมาแอ กล่าว เขามีอาชีพทำสวนแบบหาเช้ากินค่ำ เมื่อทุกอย่างถูกพัดหายไป ตอนนี้ เขายังไม่รู้ว่า จะทำมาหากินในศักราชใหม่ ปี 2567 อย่างไรต่อดี

“ท้อ”

“ท้อ” คือคำที่ จันทิรา สังสุวรรณ์ อยากกล่าวถึงห้วงเวลาที่ควรเต็มไปด้วยความสุขและการสังสรรค์ เพราะสิ่งที่สร้างมาทั้งชีวิตต้องสูญไป เมื่อมวลน้ำทะลักสู่ จ.นราธิวาส ที่เธออาศัยอยู่กับสามี และลูกเล็กวัย 8 ขวบ

ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องตลอดวันที่ 22-24 ธ.ค. ก่อให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ทั้งน้ำป่าไหลทะลัก ดินถล่ม จนการสัญจรถูกตัดขาด หลายพื้นที่น้ำท่วมสูงถึงหลังคา

จันทิรา สังสุวรรณ์’ แม้ค้าขายผักสดกับการนับหนึ่งใหม่

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, จันทิรา สังสุวรรณ์’ แม้ค้าขายผักสดกับการนับหนึ่งใหม่

น้ำท่วมรวดเร็วมาก และไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้า ในนาทีชีวิต จันทิรา และสามี รีบพาลูกอพยพหนีน้ำอย่างทุลักทุเล และทิ้งสิ่งของทั้งหมดไว้ที่บ้าน “น้ำกระทบพื้นผนังบ้านเหมือนมีคนมาทุบ... (ตอนนั้น) ลืมวัน ลืมเหตุการณ์ หาแต่ลูก ห่วงแต่ลูก กลัวลูกถูกน้ำซัด” เธอเล่าต่อ

“ครอบครัวต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่กับสิ่งที่สร้างมาทั้งชีวิต ลูกยังเรียนอยู่ ก็ต้องเริ่มศูนย์ใหม่ ทั้งชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนก็เสียหาย” แม่ค้าตลาดสด บอกกับบีบีซีไทย

ตอนนี้ ระดับน้ำใน จ.นราธิวาส เริ่มลดลงแล้ว แต่ภาพเคหะสถานที่เธอกับครอบครัวอาศัยอยู่ ทำให้ จันทิรา อุทานว่า “ท้อ” ออกมาหลายครั้ง “เรามันก็หาเช้ากินค่ำ ตอนนี้ ชีวิตเท่ากับศูนย์”

“มันแย่มาก! หวังอยากจะกลับไปฉลองปีใหม่กับครอบครัวที่ยะลา แต่ก็ต้องมาเจอเหตุการณ์นี้” จันทิรา กล่าว

ทุกวันนี้ เมื่อหวนคิดไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ใจผู้เป็นแม่ยังสั่น และสิ่งที่คิดไม่ใช่เรื่อง จะฉลองสิ้นปีที่ไหน ปีหน้าจะทำอะไร แต่เป็นคำว่า

“ลูกของฉันอยู่ที่ไหน”

.

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, หัวใจของแม่คือลูก ๆ

ปีทองที่มลายหายไป

วังหินงาม รีสอร์ท เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมใน อ.สุคิริน ช่วงเทศกาลจะมีชาวมุสลิมกว่า 90% เข้ามาใช้บริการ กระแสตอบรับกิจกรรมต่าง ๆ ของทางรีสอร์ทก็เป็นไปด้วยดี รวมถึงธุรกิจล่องแก่ง

.

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นิรัตน์ วังหินงาม

“ความเสียหายที่ผมเจอ... ผมไม่มีกำลังพอจะเยียวยาตัวเอง” นิรัตน์ เจ้าของล่องแก่ง วังหินงาม รีสอร์ท บอกกับบีบีซี ด้านหลังคือสภาพรีสอร์ทที่ถูกดินถล่มเสียหายยับเยิน

อาพร ขาวแสง ภรรยาของนิรัตน์ เล่าว่า ช่วงปลายปีนี้มีคนจองคิวยาวเต็มไปถึงเดือน ม.ค. พวกเขาจึงไม่กลับบ้านเกิดในช่วงปลายปี

จะกลับไปเฉลิมฉลองพบญาติเพียงช่วงสงกรานต์ ในช่วงเทศกาลปีใหม่จะไม่กลับไปเพราะเป็นช่วงหยุดยาวที่จะมีลูกค้าเข้ามาพักใช้บริการรีสอร์ท ปีนี้ก็เช่นกัน แผนคิวจองเต็มยาวไปเกือบๆกลางเดือนมกราคมและเป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ

“เราสร้างเนื้อสร้างตัวมา 7 ปี มองแล้วว่าปีหน้าเป็นปีทองของเราแน่ ๆ แต่สุดท้าย... ฝันสลาย” นิรัตน์ กล่าวอย่างท้อแท้

ส่งท้ายปีในฐานะผู้ประสบภัยในมัสยิด

มัสยิด คือสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิม แต่ในยามภัยพิบัติ ก็เป็นที่พักพิงชั่วคราวของประชาชน แต่น้ำท่วมใหญ่ปีนี้ สิ่งที่ต่างออกไป คือ แม้แต่มัสยิดก็ถูกน้ำท่วมเสียหายและพังทลาย

“ปกติทุกปี เราจะหนีน้ำมานอนที่มัสยิดกัน แต่ปีนี้ต้องปีนเขา กลางสายน้ำไปที่กระท่อมในสวน” มูดอ สาเมาะยามา วัย 83 ปี เล่าย้อนวันที่น้ำท่วมเข้ามาถึงตัวบ้าน จนต้องอพยพออกไปอย่างยากลำบาก เพราะตัวเองอายุมากแล้ว แล้วยังมีภรรยาและครอบครัว ที่บางคนต้องใช้ไม้เท้าประคองเดินด้วย

“เมื่อน้ำในมัสยิดลดลง ก็รีบตัดสินใจลงจากเขามาพักที่มัสยิด” มูดอ เล่าต่อ พร้อมอธิบายว่า ยังไม่ได้ไปสำรวจที่บ้านว่าเสียหายแค่ไหน

นายมูดอ สาเมาะยามา อายุ 83 ปี กับที่นอนชั่วคราวในมัสยิด

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายมูดอ สาเมาะยามา อายุ 83 ปี กับที่นอนชั่วคราวในมัสยิด

ผู้ประสบภัยคนอื่น ๆ ในพื้นที่ จ.นราธิวาส มีสภาพชีวิตไม่ต่างจาก มูดอ มากนัก พวกเขาต้องค้างแรมตามกระท่อมในสวน กางเต็นท์บนภูเขา ต้องเสี่ยงกับสัตว์มีพิษ ทำให้ไม่สามารถนอนได้ทั้งคืน

บางครอบครัว ไปตายเอาดาบน้ำ พยุงเรือพายทวนกระแสน้ำ เพื่อข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง จะได้ไปพักอาศัยอยู่บ้านชั้นสองของเพื่อนบ้าน

BBC Thai

ที่มาของภาพ, BBC Thai

ร้องไห้ส่งท้ายปี

สำหรับหญิงสาววัยทำงาน ที่โหมงานหนักในภูเก็ตเพื่อส่งเงินมาช่วยเหลือมารดาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากแผนเดิมที่จะกลับมาเฉลิมฉลองพร้อมหน้าครอบครัว แต่ปีนี้ ทริปกลับภูมิลำเนา กลายเป็นมาช่วยแม่ซ่อมแซมบ้านที่เสียหายหนัก

“ใจสลายเมื่อได้รับสายจากแม่ ถึงความสูญเสียหลังวิกฤต” ลูกสาวของ รอมียะห์ ใน จ.นราธิวาส กล่าว

รอมียะห์ มีลูก 8 คน เธอเล่าว่า ตอนที่ระดับน้ำสูงขึ้น ต่างคนก็ต่างช่วยกันขนของขึ้นชั้น 2 เพราะทุกปี น้ำจะท่วมไม่ถึง

แต่กลายเป็นว่า “บ้านสองชั้นก็ไม่พ้น สูญเสียทั้งหมด มีเสื้อติดตัวแค่ชุดเดียว” จนเธอกับลูก ๆ ต้องปีนออกจากหน้าต่างบ้าน อาศัยเรือที่ผ่านมา ประคองทวนกระแสน้ำด้วยการดึงสายไฟ ไปยังที่สูง ห่างจากบ้านของเธอราว 500 เมตร

.

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, สภาพบ้านที่ข้าวของเสียหายหมด

หลังจากที่น้ำลด ตนและลูก ๆ ได้กลับมาที่บ้านทำการสำรวจทรัพย์สินปรากฎว่าเสียหายเกือบทั้งหมดเหลือพัดลมตัวเล็ก 2 เครื่องที่ยังใช้งานได้ เสื้อผ้าโชคดีที่มีผู้มาบริจาคเมื่อช่วงเช้าทำให้มีชุดเปลี่ยน

ตอนนี้ ตนกับลูก ๆ ช่วยกันล้างบ้าน ล้างกันมาตั้งแต่เช้าก็ยังเหมือนอยู่ที่เดิม เพราะน้ำเป็นดินโคลนสีเข้มอย่างที่เห็นบริเวณพื้น และระดับน้ำที่ขึ้นสูงก็อยู่บริเวณประตูหน้าต่างที่เป็นรอยเข้ม

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานเมื่อ 30 ธ.ค. ว่า สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ส่งผลกระทบ 14 อำเภอ 49 ตำบล 166 หมู่บ้าน โดยมีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบเกือบ 20,000 ครัวเรือน

ตอนนี้ ระดับน้ำลดลงแล้วในเกือบทุกพื้นที่ และเจ้าหน้าที่กำลังเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง

แต่แม้น้ำจะลดลงแล้ว แต่บ้านเรือนที่เสียหาย พังทลาย และสิ่งของเพื่อประกอบอาชีพที่สูญเสียไป ทำให้ประชาชนคนทำงานอย่างครอบครัวต่าง ๆ ที่บีบีซีไทยได้พูดคุย ต้องเข้าสู่ปี 2567 ด้วยความยากลำบากกับการต่อสู้ที่อาจเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น