ย้อนเส้นทางเติบโต-พลิกผันของ "บิ๊กโจ๊ก" ก่อนถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน

.

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. มีกำหนดเกษียณอายุราชการในปี 2574 โดยเขาเป็นผู้มีอาวุโสลำดับที่ 2 ในการชิงตำแหน่ง ผบ.ตร. เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. คนปัจจุบัน มีอาวุโสลำดับที่ 4

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงนามคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ "บิ๊กโจ๊ก" รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) พร้อมลูกน้องอีก 4 นาย ออกจากราชการไว้ก่อน หลังจากถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง และศาลอนุมัติหมายจับคดีฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์ นับเป็นความพลิกผันในชีวิตราชการอีกครั้ง หลังจากกลับเข้ามารับราชการอีกครั้งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

การสั่งออกจากราชการไว้ก่อน มีผลทันที 18 เม.ย. ส่วนการสอบวินัยจะเดินหน้าต่อตามกระบวนการที่ต้องออกจากราชการไว้ก่อน โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ตามขั้นตอน

คำสั่งที่ออกมาครั้งนี้ นับเป็นการยุติความเคลื่อนไหวชั่วคราว หลังจากปฐมบทของเรื่องนี้ เริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่ตำรวจชุดคอมมานโดบุกบ้านของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในเดือน ก.ย. 2566 ขณะที่เขามีสถานะเป็น "แคนดิเดต" ผบ.ตร. คนที่ 14 และเป็นการบุกค้นที่เกิดขึ้นก่อนการประชุมของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อลงมติแต่งตั้ง ผบ.ตร. เพียง 2 วัน

คำสั่งออกจากราชการไว้ก่อนครั้งนี้ ถือเป็นจุดพลิกผันอีกจุดหนึ่งของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในรอบอย่างน้อย 5 ปี บีบีซีไทยชวนย้อนเส้นทางนายตำรวจผู้ได้รับฉายาว่า "แมว 9 ชีวิต" ผู้นี้

"แมว 9 ชีวิต" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

สุรเชษฐ์ เป็นคน จ.สงขลา เป็นบุตรของนายดาบตำรวจไสว และนางสุมิตรา หักพาล พ่อของเขาเป็น ผบ. หมู่อยู่หน่วยพลาธิการ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 เขาเคยเล่าให้สื่อฟังว่า พ่อของเขาขับรถให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 มากว่า 20 คน รวมถึง พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ (พ่อของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร)

สุรเชษฐ์ เข้าสู่รั้วโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 31 ก่อนเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 47 เป็นผู้หมวดหนุ่มในวัย 23 ปีเศษ โดยเริ่มต้นชีวิตราชการเหมือนนายตำรวจใหม่ทุกคน เป็นพนักงานสอบสวนในนครบาล 2 ปี

เส้นทางตำรวจของเขา เริ่มที่ตำแหน่งสารวัตรที่กองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โยกย้ายขยับตำแหน่งไปยังหลายหน่วย

สุรเชษฐ์ เคยเป็นนายเวรนายตำรวจราชสำนักประจำ ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ผู้กำกับการอำนวยการ 10 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้กำกับการ สภ.หาดใหญ่ จ.สงขลา บ้านเกิด และขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา

เงาตามติด "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ"

หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 สุรเชษฐ์ ขยับจากรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ขึ้นรักษาการตำแหน่งผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานนายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้น เขาก็ได้กลายเป็นเงาติดตาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นับเป็นจุดที่ทำให้เขาก้าวกระโดดมาเป็นคนมีชื่อเสียงระดับประเทศ

ภายในเวลา 2 เดือนเศษ สุรเชษฐ์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว ในเดือน ต.ค. 2558 สร้างผลงานและชื่อเสียงอยู่ที่กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวเพียง 1 ปี ก็ย้ายกลับมาที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) อีกครั้ง หลังจากที่เคยสังกัดอยู่ช่วงสั้น ๆ

กลับมาครั้งนี้ เขาขึ้นชั้นเป็นผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือ 191 อันเลื่องชื่อ และสร้างผลงานด้านการอำนวยการสืบสวนจับกุมได้อย่างโดดเด่นแม้จะอยู่ในตำแหน่งนี้ไม่ถึง 1 ปี จาก 1 ต.ค. 2559-6 ก.ย. 2560 ก่อนที่จะขึ้นรั้งตำแหน่งรักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว หลังมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการขึ้นใหม่

แม้ไม่ได้เป็นผู้บัญชาการหน่วยคนแรก แต่สุรเชษฐ์ก็ได้ครองตำแหน่งที่นายตำรวจหลายคนหมายปอง เมื่อได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ.ประวิตร ให้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เมื่อปี 2561

ช่วงเวลาการเป็นผู้บัญชาการ ตม.นี้เอง ที่ชื่อของ สุรเชษฐ์ โด่งดังต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการมีบทบาทสำคัญในกรณีสาวชาวอังกฤษที่อ้างถูกขืนใจบนเกาะเต่า และกรณีเรือฟินิกซ์ล่มที่ภูเก็ต เมื่อปี 2561 และคดีหญิงซาอุดิอาระเบียวัย 18 ปี ถูกกักตัวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2562

.

ที่มาของภาพ, getty images

"ฟ้าผ่า" ที่ สวนพลู ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ เซ็นคำสั่งกลับเข้ารับราชการ

ช่วงเวลาหอมหวานในตำแหน่งผู้บัญชาการ ตม. นั้นคิดเป็นเวลาเพียง 6 เดือนกับอีกไม่กี่วัน ในวันที่ 5 เม.ย. 2562 สุรเชษฐ์ โดนคำสั่งของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ขณะนั้น สั่งย้ายเขาไปประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้ขาดจากตำแหน่งเดิม

ไม่กี่วันต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ก็ใช้อำนาจตามมาตรา 44 โอนเขาไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ประจำปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และถูกขึ้นบัญชีบุคคลต้องได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

ช่วงเวลานี้มีคำร่ำลือเกิดขึ้นมากมายกับตัวเขา เพราะบัญชีสื่อออนไลน์ที่เคยเคลื่อนไหวถูกปิดไปจนสิ้น บ้านพักและเซฟเฮาส์ส่วนตัวหลายแห่งถูกค้น เงินสดหลายร้อยล้านถูกอายัดไปตรวจสอบ ความผิดพลาดครั้งนี้อาจหนักถึงขั้นถูกไล่ออกจากราชการ หนักไปกว่านั้น "อาจถึงตาย" แต่ทุกอย่างก็ไม่หนักถึงปานนั้น

สุรเชษฐ์ ใช้ชีวิตเงียบ ๆ ในชีวิตข้าราชการพลเรือนไปถึง 2 ปีเต็ม หลังจากนั้น จึงมีคำสั่งนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โอนให้เขากลับไปเป็นที่ปรึกษา สบ 9 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เทียบผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่เปิดเป็นตำแหน่งเฉพาะตัวให้สุรเชษฐ์ หลังเขายื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ออกคำสั่งโยกย้าย แม้ศาลปกครองจะยกฟ้อง เพราะฟ้องผิดขั้นตอนที่กฎหมายปกครองกำหนดไว้ก็ตาม

ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ (ยศขณะนั้น) กลับมาผงาดอีกครั้งในตำแหน่งหลักผู้ช่วย ผบ.ตร. และขยับขึ้นเป็น รอง ผบ.ตร. ในปี 2565

ในช่วง 2 ปีนี้ เขาสร้างผลงานคดีค้ามนุษย์หลายคดี ซึ่งรวมทั้งปฏิบัติการทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ ปราบเงินกู้นอกระบบ ทลายเครือข่ายทุนจีนสีเทา ก่อนขึ้นแท่นเป็นแคนดิเดตชิง ผบ.ตร. ในปี 2566 ซึ่งเขาอยู่ในลำดับอาวุโส ลำดับที่ 2 และยังเหลืออายุราชการอีก 7 ปี

สกัดชิง ผบ.ตร.

เพียงสองวันก่อนคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เคาะเลือก ผบ.ตร. คนใหม่ เมื่อเดือน ก.ย. 2566 ได้เกิดเหตุการณ์ตำรวจคอมมานโดพร้อมด้วยหน่วยปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเข้าบุกค้นบ้านของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และแจ้งจับลูกน้องอีก 8 นาย กล่าวหาพัวพันกับผู้ต้องหาพนันออนไลน์รายหนึ่ง

ภาพที่เป็นที่จดจำ คือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในชุดเสื้อยืด กางเกงนอน พร้อมถุงเท้า ซึ่งบ่งชี้ได้อย่างชัดแจ้งว่า การบุกค้นของตำรวจภายใต้การนำของ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว หรือ บิ๊กเต่า รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ครั้งนั้น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ไม่ทันได้ตั้งตัว

หลังจากนั้น ยุทธจักรสีกากีก็สั่นสะเทือนมาอย่างต่อเนื่องด้วยความเคลื่อนไหวหลายกรณี หนึ่งในนั้นคือ การเกิดขึ้นของ "ศูนย์อำนาจ" ของสิ่งที่ สส.พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เรียกว่า "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สาขาสอง" ที่สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี ในฐานะฐานบัญชาการของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งมีการเรียกนายตำรวจใต้บังคับบัญชาเข้ามารายงานตัว ซึ่ง สส.ก้าวไกล ชี้ว่า นี่คือ "วิธีการทดสอบอำนาจของตัวเอง"

และตามมาด้วยการดำเนินคดีกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ด้วยข้อกล่าวหามีเส้นเงินโยงกับเครือข่ายเว็บพนัน

.

ที่มาของภาพ, HANDOUT

คำบรรยายภาพ, ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมหน่วยคอมมานโด นำหมายค้นเข้าไปเมื่อช่วงเช้าตรู่ก่อน 8.00 น. วันที่ 25 ก.ย. 2566 และพบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในชุดลำลอง เสื้อยืดขาวและกางเกงขาสั้น ที่ตอบกลับไปว่า “กลับไปเลยไป ผมไม่ให้ค้น”

จากคดี “มินนี่” ถึง “บีเอ็นเค มาสเตอร์”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2567 พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เข้ายื่นคำร้องต่อศาลให้ออกหมายจับกลุ่มตำรวจ 4 นาย และพลเรือน 1 คน โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อยู่ด้วย นำมาสู่การออกหมายจับผู้ต้องหา 4 คน ส่วน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ให้ออกเป็นหมายเรียกให้มารับทราบข้อหาที่ สน.เตาปูน กรุงเทพมหานคร เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่

คดีนี้เป็นคดีที่แยกออกมาจากคดีเว็บไซต์พนันออนไลน์ที่เรียกว่า "คดีมินนี่" โดยทางชุดสืบสวนระบุว่า พบเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับบัญชีม้าในครอบครองของ พ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ อดีตรองผกก.สส.สภ.สำโรงเหนือ จ.สมุทรปราการ ลูกน้องคนสนิทของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งได้มอบตัวไปแล้ว และให้การปฏิเสธทุกข้อหา

สำหรับคดีที่กล่าวหาว่าเขาเข้าไปพัวพัน คือเว็บไซต์พนันออนไลน์บีเอ็นเค มาสเตอร์ (BNK MASTER)

.

ที่มาของภาพ, thai news pix

ก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางในฐานะรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีเว็บไซต์พนันออนไลน์เครือข่ายมินนี่ หรือ น.ส.ธันยนันท์ สุจริตชินศรี ได้ออกมาเปิดเผยว่า เตรียมร้องทุกข์กล่าวโทษ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พร้อมกับตำรวจอีก 5 คน ในความผิดตามกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และมาตรา 149 เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินฯ กรณีพบความเชื่อมโยงไปยังกลุ่มบัญชีม้าเครือข่ายเว็บไซต์พนันของมินนี่จำนวนเงินกว่า 300 ล้านบาท โดยพบว่าจำนวนเงินกว่าครั้งหนึ่งถูกโอนเข้าไปในเส้นทางการเงินของนายตำรวจระดับสูง และนำไปให้ครอบครัวใช้ในชีวิตประจำวัน

แต่สุดท้ายแล้ว ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติ 4:1 เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567 ให้รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาดำเนินการตรวจสอบและไต่สวนเอง และยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาทำงานออกมา ซึ่งหมายความว่าหากผลการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ช้าออกไปมากเท่าไร ก็อาจส่งผลต่อการเข้าชิงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในสมัยถัดไปของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นหลังเดือน ส.ค. นี้

หลังจากการมีการออกหมายเรียกกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้เกิดปรากฎการณ์ตอบโต้รายวันของทางฝั่งทนายความของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์เอง ที่ออกมาระบุว่า "เราเข้าไปดูแล้ว ไม่มีเส้นเงินอะไรที่วิ่งเข้าไปถึง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เลย" จึงตั้งคำถามต่อคณะพนักงานสอบสวนว่า ทำไมจึงตั้งข้อหาว่า รอง.ผบ.ตร. มีส่วนพัวพันการฟอกเงินที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์พนัน BNK MASTER ได้

นอกจากนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังมอบอำนาจให้ทนายยื่นฟ้อง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กล่าวหาว่านำข้อมูลสำนวนการสอบสวนของสถานีตำรวจนคร บาลทุ่งมหาเมฆ และสถานีตำรวจเตาปูนไปเปิดเผยในรายการโทรทัศน์

ระหว่างทางที่ศึกภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินอยู่ ยังมีภาพของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ลงพื้นที่ดูแลความปลอดภัยให้กับนายทักษิณ ชินวัตร ระหว่างการเยือน จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือน มี.ค. ถึง 2 วัน ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ไปย้อนขุดภาพของเขาเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ขณะกำลังย่อตัวทักทาย คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ในงานวิ่งมาราธอนที่สนามหลวง ซึ่งนับเป็นการออกงานครั้งแรกในรอบหลายปีของคุณหญิงพจมาน

ภาพจับมือ "พล.ต.อ.ต่อศักดิ์" ก่อน "เศรษฐา" สั่งย้ายคู่มาช่วยงานสำนักนายกรัฐมนตรี

หลังจากการตอบโต้รายวันและการสู้คดีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อีกฉากหนึ่งที่ปรากฏขึ้นคือ การแถลงข่าวร่วมกันระหว่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุวิมล ผบ.ตร และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในงานแถลงข่าวเคลียร์ใจ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา

แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีคําสั่งให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้ามาช่วยที่สํานักนายกรัฐมนตรี และมอบหมาย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผบ.ตร. รักษาการแทน

คำสั่งย้ายดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเคลียร์ปมขัดแย้งระหว่างกันเมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 20 มี.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากทั้งคู่เข้าพบนายเศรษฐาในช่วงเช้าวันเดียวกัน

.

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวในการแถลงว่า ต้องการไม่ให้เกิดภาพความขัดแย้งขึ้นอีก จึงเสนอนายกรัฐมนตรีว่าให้รวมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ทั้งหมดส่งให้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและไต่สวน เพื่อความยุติธรรม ในฐานะที่เป็นคนกลาง พร้อมกับยืนยันว่าโดยส่วนตัวแล้วไม่มีความขัดแย้งกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์

ด้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ บอกว่า จากการที่ทาง ผบ.ตร. พาเข้าพบนายกรัฐมนตรีและมีแนวคิดยุติความขัดแย้งในองค์กรนั้น นายกรัฐมนตรี ผบ.ตร. และเขาเองเห็นตรงกันว่า ทุกคนต้องเดินหน้าทำงานเพื่อประชาชน

ขณะที่นับตั้งแต่มีการออกหมายเรียก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจนครบาลเตาปูน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ปฏิเสธการเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกถึง 3 ครั้ง ทำให้มีการออกหมายจับในที่สุด และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เดินทางเข้าไปมอบตัวเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา

และหลังจากผ่านพ้นหยุดยาวสงกรานต์มาไม่กี่วัน คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนก็ออกมาในวันที่ 18 เม.ย. เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย

นี่คือเส้นทางทั้งหมดของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในช่วงเวลาเกือบ 8 เดือน นับจากที่ศึกสีกากีปะทุขึ้นมาในช่วงการชิงตำแหน่ง ผบ.ตร. ในเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว