สว. ประชาชน VS เสียงจัดตั้ง ที่ดังเข้าหู ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ธนาธร

ที่มาของภาพ, กองโฆษก คณะก้าวหน้า

คำบรรยายภาพ, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แถลงเปิดแคมเปญ "สว. ประชาชน" เมื่อ 22 เม.ย. โดยบอกว่า “เสียดายผมถูกตัดสิทธิไปแล้ว ร่วมลงแรงกับทุกคนในแคมเปญนี้ไม่ได้”
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ประธานคณะก้าวหน้าเปิดเผยข้อมูลเรื่องความพยายาม “จัดตั้ง” ในการเลือก สว. ชุดใหม่ โดยให้เงิน 17,500 บาท/คน ซึ่งเขาออกตัวว่า “ไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ เป็นคำบอกเล่าจากประชาชน”

คณะก้าวหน้าภายใต้การนำของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เปิดแคมเปญ “สว. ประชาชน” รณรงค์ให้ประชาชนผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย ไปลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

ธนาธร คาดหวังให้มี “สว. ประชาชน” อย่างน้อย 70 คน จากทั้งหมด 200 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของวุฒิสภา และเป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญต่อการชี้ขาดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จะสำเร็จหรือไม่

อย่างไรก็ตามประธานคณะก้าวหน้าไม่ได้ระบุว่า ต้องมีผู้สมัคร สว. จำนวนเท่าใด ถึงจะทำให้เป้าหมายนำ “สว. ประชาชน” เข้าสภา 70 คนบรรลุผล

“ไม่มีใครสามารถวัดมันเป็นปริมาณได้ว่าต้องการจำนวนเท่าไร ไม่มี ไม่รู้ เพราะภายใต้กติกาแบบนี้ เราไม่สามารถคำนวณกลับไปยังต้นทางว่าต้องมีผู้สมัครเท่าไร ที่แน่ ๆ คิดว่าต้องระดับหลักหมื่นขึ้นไป” ธนาธร ตอบคำถามบีบีซีไทยในระหว่างการแถลงข่าววันนี้ (22 เม.ย.) โดยหลีกเลี่ยงการพูดถึงตัวเลข

แม้ก่อนหน้านี้ เขาเคยให้สัมภาษณ์ในรายการ “คุยนอกจอ” กับ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ว่า ต้องการยอดผู้สมัครอย่างน้อย 1 แสนคน แต่วันนี้เขาบอกเพียงว่า 1 แสนคนเป็นตัวเลขเป้าหมาย หากทำได้ก็จะได้เสียงส่วนใหญ่ของ สว. เลย แต่ถ้าต้องการ 70 ตัวเลขก็จะลดหลั่นลงมา

ข้อมูลจากเว็บไซต์ senate67.com จัดทำโดยเครือข่ายภาคประชาชน 17 กลุ่ม เพื่อเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับการเลือก สว. ชุดใหม่ ทั้งเปิดให้ตรวจสอบคุณสมบัติ, แสดงตัวเป็นผู้สมัคร และค้นหาผู้สมัคร ล่าสุด ณ 22 เม.ย. มีผู้แสดงตัวลงสมัครแล้ว 1,141 คน

อย่างไรก็ตาม ธนาธร เชื่อว่า ตัวเลขจริงจะมากกว่านี้ เนื่องจากคนที่ลงสมัคร สว. มี 3 ประเภทคือ คนที่สมัครเพราะต้องการเป็น สว. จริง ๆ, คนที่สมัครแบบเป็นก็ได้-ไม่เป็นก็ได้ และคนที่สมัครเพราะต้องการเข้าไปโหวต ซึ่งคน 2 กลุ่มหลังอาจไม่จำเป็นต้องเข้าไปแสดงตัวในเว็บไซต์

ประชาชนอ่านเอกสาร

ที่มาของภาพ, กองโฆษก คณะก้าวหน้า

คำบรรยายภาพ, ประชาชนในภาคใต้ให้ความสนใจอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการลงสมัคร สว. ในระหว่างรับฟังการเดินสายรณรงค์ของคณะก้าวหน้าช่วงหลังสงกรานต๋

สำหรับ สว. ชุดใหม่จะมาจากการ “เลือกกันเอง” ในกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม และ “เลือกไขว้กลุ่ม” โดยผู้สมัครต้องผ่านการเลือก 3 ระดับ จากอำเภอ ขึ้นสู่จังหวัด และประเทศ จนเหลือ 200 คนเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในวุฒิสภาแทน สว. ชุดเฉพาะกาล 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 11 พ.ค. นี้

ระบบเลือก สว. ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 นี้ คิดค้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โดยนำมาใช้เป็นครั้งแรกในโลก

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ภาคประชาชน นักการเมืองฝ่ายค้าน รวมถึงแกนนำคณะก้าวหน้าวิจารณ์ว่า ระบบเลือก สว. นี้ออกแบบมาเพื่อ “กีดกันประชาชนไม่ให้มีส่วนร่วม” ด้วยการกำหนดให้ผู้สมัครต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป และต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสมัคร 2,500 บาท ถึงจะมีสิทธิโหวตและมีสิทธิได้รับโหวต

ก้าวสำคัญในการออกจาก “ระบอบประยุทธ์”

ธนาธร เริ่มต้นการแถลงข่าว ด้วยการย้อนผลโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีร่างรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวที่มีเนื้อหาเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง สส. ได้รับเสียงโหวตจาก สว. 149 คน จนประกาศใช้ได้ ส่วนที่เหลือถูกตีตกทั้งหมด

“แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นนายกฯ แล้ว แต่ระบอบประยุทธ์ยังอยู่กับเราในรูปแบบรัฐธรรมนูญ 2560 คุณประยุทธ์ไม่อยู่แล้ว แต่ตัวระเบียบที่ก่อร่างสร้างตัวคณะรัฐประหารยังอยู่กับเรา” ประธานคณะก้าวหน้าระบุ

เขาจึงส่งเสียงเรียกร้องไปยัง “ประชาชนที่รักประชาธิปไตย” ให้เข้ามามีบทบาทในการร่วมฟื้นฟูประชาธิปไตยของประเทศผ่านการลงสมัคร สว. เพราะหากปล่อยให้การเลือก สว. มาจากกลุ่มคนจำนวนน้อยเหมือนการเลือก สว. ชุดที่ผ่านมา โอกาสที่ สว. ชุดใหม่จะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบเป็นไปไม่ได้เลย

ปชช.

ที่มาของภาพ, กองโฆษก คณะก้าวหน้า

คำบรรยายภาพ, แผ่นพับสรุปสาระน่ารู้เกี่ยวกับการเลือก สว. ที่คณะก้าวหน้านำไปแจกจ่ายให้ประชาชน จัดทำโดยไอลอว์และเครือข่าย

ธนาธร ยังไล่เลียงการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระอย่างน้อย 3 องค์กร ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการรับรองและแต่งตั้งโดย สว. ชุดปัจจุบัน ซึ่งองค์กรอิสระเหล่านี้ถูกวิจารณ์ว่าทำหน้าที่ “สองมาตรฐาน”

ก่อนเสนอว่า การทำให้ประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย การเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติ ประชาชนมีความสมานฉันท์ ต้องเริ่มต้นจากความเป็นธรรมและต้องไม่สองมาตรฐาน และชี้ว่าสิ่งเหล่านี้เริ่มได้ที่การเลือก สว. หากมี สว. ประชาชนที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยเข้าไปดำรงตำแหน่งมากพอ ก็จะช่วยถอดสลักและแก้ปมที่พันกันได้

สำหรับคำจำกัดความของ “สว. ประชาชน” ของคณะก้าวหน้าคือ คนธรรมดาที่ “ฝักใฝ่ประชาธิปไตย” และลงสมัคร สว. โดยไม่รับเงินทองและอามิสสินจ้าง

แม้ตระหนักดีว่านี่เป็นการเรียกร้องขั้นสูงต่อประชาชน เพราะต้องเสียทั้งเงินค่าสมัครและเสียเวลา แต่ภายใต้กฎการเลือกตั้ง สว. แบบนี้ ธนาธร เห็นว่า คนเก่ง ดี เด่น ดังในอาชีพจริง ๆ จะดำรงตำแหน่งไม่ได้เลยหากไม่มีพรรคพวก

“คนเหล่านี้จะไปดำรงตำแหน่งได้ต้องอาศัยแรงจากทุกคน เราต้องคว้าโอกาสนี้ไว้ หากไม่สามารถผลักดันคนเหล่านี้เข้าไปในสภาได้ การออกจากระบอบประยุทธ์ต้องรอไปอีก 5 ปี นี่ถือเป็นก้าวสำคัญในการแก้ปมระบอบประยุทธ์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560” ประธานคณะก้าวหน้ากล่าว

คำบอกเล่าเรื่อง “เสียงจัดตั้ง” ที่ดังเข้าหู ธนาธร

การแถลงเปิดแคมเปญ “สว. ประชาชน” ของประธานคณะก้าวหน้าเกิดขึ้นก่อนมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือก สว. ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีการกำหนดข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ ของผู้สมัครและบรรดาผู้สนับสนุน

ภายหลังเทศกาลสงกรานต์ แกนนำคณะก้าวหน้าเริ่มเดินสายรณรงค์ให้ประชาชนลงสมัคร สว. อย่างน้อย 7 จังหวัด ประกอบด้วย จ.กระบี่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต สงขลา และ กทม. ส่วนในสัปดาห์หน้า พวกเขาจะลงพื้นที่อีสานเหนือและภาคเหนือต่อไป

ในระหว่างการลงพื้นที่ ประธานคณะก้าวหน้าอ้างว่า ได้รับข้อมูลจากประชาชนเรื่องการ “จัดตั้ง” และ “ใช้เงินสร้างกลุ่ม สว. ขึ้นมา”

“ตอนนี้ราคาอยู่ที่ 2,500 บาท เป็นค่าสมัคร และจ่ายค่าเหนื่อยให้อีก 15,000 บาท ถ้าไปซื้อระดับจังหวัดก็เป็นหลักแสนแล้วตอนนี้ ผมไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ เป็นคำบอกเล่าจากประชาชน” ธนาธร เล่าต่อถึงเสียงที่ดังเข้าหูของเขา

เวลาแกนนำคณะก้าวหน้าเรียกร้องให้มีผู้สมัคร สว. ที่เป็น “เสียงอิสระ” เข้าไปต่อสู้กับ “เสียงจัดตั้ง” พวกเขาคิดถึงหน้าใคร/กลุ่มไหนเมื่อพูดถึงเสียงจัดตั้ง บีบีซีไทยถาม

ธนาธร บอกเพียงว่า มีการพูดถึงพรรคการเมืองบ้าง กลุ่มต่าง ๆ บ้าง แต่โยนให้สื่อมวลชนเป็นผู้หาคำตอบ-ไปทำข่าวเจาะลึก เพราะเชื่อว่าประชาชนอยากได้ยินข้อเท็จจริงนี้ว่ากลุ่มไหนทำงานกันอย่างไร เข้าไปซื้อใครอย่างไร

ปธ.กกต. ชี้การรณรงค์ของคณะก้าวหน้า “ไม่ถึงขั้นสุ่มเสี่ยง”

ความเคลื่อนไหวของ ธนาธรกับพวก ในการกระโดดเข้าร่วมการรณรงค์ในสนามเลือก สว. 2567 ทำให้เกิดแรงต้านจากคนใน “ขั้วอำนาจเดิม” บางส่วน

สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคณะบุคคล/ตัวแทนพรรคการเมือง ที่มีกระบวนการรณรงค์ให้ประชาชนสมัคร สว. โดยระบุว่า “เข้าข่ายฮั้วในกระบวนการเลือกกันเองของ สว.” เนื่องจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2561 ต้องสมัครเพื่อเป็น สว. ไม่ใช่สมัครเพื่อเป็นโหวตเตอร์

สมชาย แสวงการ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, สมชาย แสวงการ ผู้เรียกร้องให้ กกต. ตรวจสอบแคมเปญของคณะก้าวหน้า

ปฏิกิริยาจาก ธนาธร ต่อท่าทีของ สว.สมชาย คือ ก็ไปสมัครให้เยอะที่สุด ส่วนเขาจะโหวตใคร เป็นเรื่องของเขา ยิ่งเยอะยิ่งดี และเชิญชวนให้ไปลงสมัครให้เยอะกลุ่มอาชีพ เยอะอำเภอ เพื่อคนที่จัดตั้งกันมาจะได้ไม่สามารถส่งคนของตัวเองเข้าสู่กระบวนการได้

“ถ้าไม่มีคนอิสระเข้าไปเลย หมายความว่าอะไร ใครจัดตั้งมา เข้าหมดเลย เพราะไม่มีการแข่งขัน” ธนาธร กล่าว

ก่อนหน้านี้ อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ให้ความเห็นว่า การรณรงค์ของคณะก้าวหน้า “ไม่คิดว่าถึงขั้นสุ่มเสี่ยง” เพราะการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่สนใจไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนในด้านต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ กกต. เองก็ได้รณรงค์มาโดยตลอด

“หากมีการสมัครเยอะ การแข่งขันก็จะยิ่งเยอะ และทำให้การแข่งขันมีคุณค่า ซึ่งเห็นว่าการเชิญชวนให้ประชาชนมาสมัครเป็นสิ่งที่น่าจะสนับสนุนด้วยซ้ำไป” ประธาน กกต. ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อ 19 เม.ย.

อย่างไรก็ตามประธาน กกต. เตือนว่าการทำอะไรก็ตามอย่าฝ่าฝืนกฎหมาย และแนะนำให้มาคุยกับ กกต. ก่อนหากมีข้อสงสัยอะไร

พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2561 ห้ามผู้สมัคร สว. เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ห้ามเป็นสมาชิกพรรค, ผู้บริหารพรรค, สส., รวมถึงเป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของ สส. สว. ข้าราชการการเมือง พร้อมกำหนดโทษไว้ ดังนี้

  • หากผู้สมัครยินยอมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง/พรรคการเมือง ช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับการเลือกเป็น สว. จะมีความผิดตามมาตรา 76 ต้องโทษระวางจำคุก 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
  • หากมีการ “รับจ้าง” เพื่อลงสมัคร สว. จะมีความผิดฐานเรียกหรือรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด ตามมาตรา 79 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
  • หากมีการ “รับสินบน” เพื่อเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัคร สว. จะมีความผิดตามมาตรา 81 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

ดูวิดีโอชุด "เลือก สว. 67" สรุปกติกาที่ "ซับซ้อนที่สุดในโลก" และเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกับเลือก 200 สว. ชุดใหม่ ได้ที่นี่

ข้าม YouTube โพสต์ , 1
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน: บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่มาจากภายนอก เนื้อหาจาก YouTube อาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์, 1

ข้าม YouTube โพสต์ , 2
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน: บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่มาจากภายนอก เนื้อหาจาก YouTube อาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์, 2

ข้าม YouTube โพสต์ , 3
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน: บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่มาจากภายนอก เนื้อหาจาก YouTube อาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์, 3

ข้าม YouTube โพสต์ , 4
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน: บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่มาจากภายนอก เนื้อหาจาก YouTube อาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์, 4

ข้าม YouTube โพสต์ , 5
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน: บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่มาจากภายนอก เนื้อหาจาก YouTube อาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์, 5