มติรัฐสภา 233:103 ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความจำนวนครั้งประชามติแก้รัฐธรรมนูญ

สว. ชุดปัจจุบันจะหมดวาระในเดือน พ.ค. นี้ ไม่มี

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, สว. ชุดปัจจุบันจะหมดวาระในเดือน พ.ค. นี้ จึงไม่มีอำนาจร่วมแก้รัฐธรรมนูญอีกต่อไป
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ที่ประชุมรัฐสภามีมติ 233 ต่อ 103 ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง ก่อนเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกันมีสมาชิกใช้สิทธิงดออกเสียง 170 คน ซึ่งมี สส.ก้าวไกล รวมอยู่ในนั้น เนื่องจากพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการ “ยื่นดาบ” ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คนเป็นผู้ชี้ขาด เพราะถ้ายังมีส่วนร่วมในการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองแบบนี้ ในอนาคตระบอบการเมืองที่ควรอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จะกลายเป็น “ระบอบการเมืองที่ปกครองด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

การส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) เป็นไปตามมติรัฐสภา 29 มี.ค. ซึ่งมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นเจ้าของญัตติ

ก่อนหน้านี้เมื่อ 16 ม.ค. นายชูศักดิ์กับ สส.เพื่อไทย รวม 123 คน ได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อประธานรัฐสภา

ทว่าสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งในเวลาต่อมาว่า ประธานได้พิจารณาแล้วเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 จึงมิใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้” เมื่อ 11 มี.ค. 2564 ดังนั้น ประธานรัฐสภาจึงไม่สามารถบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายชูศักดิ์เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้

สำหรับคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ระบุตอนหนึ่งว่า “หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้วต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

การทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง เป็นเงื่อนไขบังคับตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, การทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง เป็นเงื่อนไขบังคับตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564

ตลอดเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่างตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ตรงกันว่า การทำประชามติครั้งแรกที่ศาลระบุว่าให้ประชาชนลงประชามติ “เสียก่อน” ต้องทำในชั้นไหน และทำเมื่อใด เป็นผลให้เกิดสารพัดสูตรประชามติ

พรรค พท., พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Con for All) เห็นว่า ควรทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรก ทำภายหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 แล้ว และครั้งที่ 2 ทำภายหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แล้วเสร็จ

ขณะที่รัฐบาลโดยคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เห็นควรให้ทำประชามติ 3 ครั้ง โดยครั้งแรก ทำตั้งแต่ก่อนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

นายชูศักดิ์ เจ้าของญัตติ ให้ความเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุถึงการทำประชามติเพียง 2 ครั้ง โดยศาลไม่ได้ระบุว่าต้องออกเสียงประชามติก่อนบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือก่อนรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หากถือตามความเห็นของประธานรัฐสภาจะเป็นผลให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ

ชูศักดิ์ ศิรินิล เจ้าของญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจหน้าที่สมาชิกรัฐสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ชูศักดิ์ ศิรินิล เจ้าของญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจหน้าที่สมาชิกรัฐสภา

36 เสียง รทสช. ร่วมโหวตส่งศาลตีความ แต่ย้ำเงื่อนไขห้ามแตะหมวด 1, 2

ด้านนายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เห็นด้วยที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อให้สิ้นสงสัย และไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ก็พร้อมน้อมรับ แต่ถ้าเลือกได้ พรรคของเขาเห็นความสำคัญกับเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้ประชาชน แก้กฎหมายระเบียบและกติกาที่เป็นอุปสรรคกับประชาชนมากกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เข้าใจว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นวาระที่หลายพรรคหาเสียงเอาไว้

อย่างไรก็ตามแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีสิ่งดี ๆ ที่ต้องรักษาไว้ หากมีปัญหาตรงไหนก็แก้ไขเป็นรายมาตรา โดยไม่ต้องเดินหน้าทำประชามติ เข้าใจว่าหลายคนยังติดใจกังวลและจมอยู่กับกับวาทกรรมเผด็จการ-ประชาธิปไตย และติดใจว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นผลพวงจากการรัฐประหารหรือไม่ จึงขอทบทวนความทรงจำว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างขึ้นด้วยกลุ่มบุคคลที่เป็นอิสระจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผ่านการทำประชามติเห็นชอบมากกว่า 58% ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ แม้แต่ สว. ที่ให้อำนาจเลือกนายกฯ ก็เป็นผลพวงของการทำประชามติ ไม่ใช่ผลพวงของรัฐประหาร

“ดังนั้นการเดินหน้าประเทศต้องไม่จมอยู่กับวาทกรรม การเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้ทันทีเป็นรายมาตรา เถ้าจะทำทั้งฉบับ นอกจากสูญสิ้นหลักประกันของดีที่มีอยู่ในนี้แล้ว ยังต้องเสียงบ เสียเวลา เสียโอกาส” เลขาธิการพรรค รทสช. กล่าว

นายเอกนัฏบอกด้วยว่า 36 เสียงของพรรค รทสช. ยินดีลงมติสนับสนุนให้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ชัดเจน แต่ขอหลักประกันเดิมคือ 1. หากจะเดินหน้าแก้เกือบทั้งฉบับ ให้ใส่ลงไปเลยว่าจะแก้โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 และ 2. ไม่กระทบกับกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ก้าวไกลงดออกเสียง ค้าน “ยื่นดาบ” ให้ 9 ตุลาการ

ขณะที่ สส. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้ลงมติงดออกเสียง ภายหลังสลับกันขึ้นอภิปรายคัดค้านการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจำนวนครั้งในการจัดทำประชามติ โดยเปรียบเปรยว่าเป็นการ “ยื่นดาบ” ให้คน 9 คนเป็นผู้ชี้ขาดและขยายขอบเขตอำนาจของตัวเอง พร้อมเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ด้วยความ “กล้าหาญ” ด้วยการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรค พท. ที่ยื่นไปเมื่อเดือน ม.ค. และพรรค ก.ก. ที่ยื่นไปเมื่อเดือน มี.ค. เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. กล่าวว่า หนักใจที่ต้องพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเป็น “การยื่นดาบให้ตุลาการ 9 คนที่ถูกแต่งตั้งโดยกลุ่มที่ไม่อยากให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้ฟันธงชี้ขาดว่ารัฐสภาทำอะไรได้ไม่ได้ ที่ผ่านมามักเป็นกล่องสุ่มไม่เป็นคุณต่อกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญมากนัก”

สส.ก้าวไกลรายนี้วิจารณ์ว่า “การตัดสินใจของประธานสภาไม่ถูกต้อง” กรณีไม่บรรจุญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของทั้ง 2 พรรค เพราะประธานตีความคำว่า “เสียก่อน” ต่างออกไป โดยหมายถึงการทำประชามติเสียก่อนจะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใด ๆ เข้ารัฐสภา ทำให้เขาชี้ชวนให้ดูคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการทั้ง 9 เพื่อทำความเข้าใจคำวินิจฉัยกลางที่ 4/2564 เพิ่มเติม ว่าแต่ละคนให้ความเห็นว่าควรทำประชามติกี่ครั้ง

จากการตรวจสอบของนายพริษฐ์พบว่า ความเห็นตุลาการออกมาเป็น 5-2-1-1 โดยตุลาการเสียงข้างมาก 5 คนเห็นรวบยอดว่าประธานรัฐสภาสามารถบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่อง สสร. ได้ ขณะที่ 2 คน มีความเห็นเหมือนคำวินิจฉัยกลาง จึงขึ้นอยู่กับมุมมองที่มีต่อข้อความในคำวินิจฉัยกลาง 1 คนบอกว่าบรรจุไม่ได้จนกว่าจะทำประชามติก่อนเสนอร่างแก้ไขมาตรา 256 เข้ารัฐสภา และอีก 1 คนบอกว่ารัฐสภาไม่มีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญได้เลยไม่ว่าจะทำประชามติกี่ครั้งก็ตาม

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการวินิจฉัยของประธานสภาผู้แทนราษฎร มีมติเสียงข้างมากแนะนำให้ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 2 พรรคการเมือง ได้ยอมรับกับนายพริษฐ์เมื่อ 20 มี.ค. ระหว่างการประชุมวิป 4 ฝ่ายว่า ตัดสินใจจากการศึกษาเฉพาะคำวินิจฉัยกลาง ไม่ใช่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการ

“การตัดสินใจของประธานในการไม่บรรจุร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลโดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เพียงเป็นการตัดสินใจที่สวนทางกับตุลาการเสียงข้างมากของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังเกิดขึ้นจากการที่กรรมการท่านเองยอมรับกับผมว่าไม่ได้ศึกษาคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการรายบุคคลก่อนเสนอความเห็นให้ประธานวินิจฉัย” นายพริษฐ์กล่าว

ไอติม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สรุปคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกลางรัฐสภา

นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม. พรรค ก.ก. เป็นอีกคนที่ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยให้เหตุผลว่าคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ได้ แต่ส่วนที่เกินมาคือข้อกำหนดอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นการขยายอำนาจเข้ามาในฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าเป็นอย่างนี้ หมายถึงว่าอำนาจของนิติบัญญัติจะอ่อนด้อยและถูกด้อยค่าโดยศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าสภาเอาญัตตินี้ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

“ถ้าส่งไปก็ไปยื่นดาบ หรือยื่นคอไปให้เขาตัดสิน ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าธงคือจะทำให้แก้ยากหรือไม่ให้แก้” นายธีรัจชัยกล่าว

เขายังเรียกร้องให้ประธานรัฐสภา “ต้องกล้าหาญกว่านี้” และตั้งคำถามต่อไปว่า ประธานไม่กล้า แล้วไปเชื่อสำนักเลขาธิการสภา มีอำนาจอะไรมาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ทำไมประธานต้องเชื่อ

“ความสง่างามของประธานรัฐสภาไปไหน กลัวอะไรนักหนา ถ้าประธานรัฐสภาเป็นตัวของตัวเอง และมั่นใจในอำนาจนิติบัญญัติที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยสูงอยู่แล้ว สามารถพิจารณาญัตติได้เลย” สส.กทม. พรรค ก.ก. กล่าว

ชัยธวัช

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ก.ก. กล่าวว่า การอภิปรายวาระนี้ ไม่เกี่ยวกับชอบ-ไม่ชอบรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เกี่ยวกับเป็นฉบับสืบทอดเผด็จการ-ประชาธิปไตย แต่คือปัญหาว่าเราไม่เข้าใจตัวเองว่ามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยยืนยันว่าพรรค ก.ก. ไม่ปรารถนาจะขัดขวางมตินี้ แต่มีความจำเป็นต้องสงวนความเห็น 2 ประเด็น

  • การที่ประธานไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายชูศักดิ์ เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุมสภา และไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
  • ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ สมาชิกรัฐสภาไม่มีความจำเป็นใด ๆ ต้องส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัยว่ามีอำนาจที่จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ พูดง่าย ๆ ว่า “รัฐสภาไม่จำเป็นต้องไปถามหรือขออนุญาตตุลาการ ในสิ่งที่พวกเรามีอำนาจชัดเจนอยู่แล้วในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ การยื่นให้ศาลวินิจฉัยโดยไม่จำเป็นยังมีปัญหาอย่างอื่น เพราะมันสุ่มเสี่ยงที่จะเปิดช่อง หรือสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจของตนเองจนเสียสมดุลทางอำนาจในระบบรัฐสภาระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย”

ผู้นำฝ่ายค้านในสภาเห็นว่า รัฐสภาสามารถหาข้อยุติในเรื่องนี้ได้ด้วยกลไกรัฐสภาโดยไม่ต้องส่งให้ศาลวินิจฉัย เช่น ปรึกษาหารือ แสดงความคิดเห็น หรือให้สมาชิกลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่กับดุลพินิจของประธาน จึงไม่สนับสนุนให้ยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัย เพราะหลายครั้งพอยื่นไปเป็นการเปิดช่องให้ศาลขยายอำนาจตัวเอง หรือบางครั้งตีความรัฐธรรมนูญเกินบทบัญญัติรัฐธรรมนูญด้วย

“ปัจจุบันเราปฏิบัติต่อศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ผูกขาดตีความรัฐธรรมนูญแต่เพียงผู้เดียวไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญกำลังกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง วินิจฉัยยังไงก็ได้ บางครั้งไปถามนักนิติศาสตร์ยังอธิบายคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่าตรงตามกฎหมายหรือตรงตามรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย แต่อาศัยอำนาจที่อ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร บีบให้สถาบันทางการเมืองอื่นสยบยอมทั้งสิ้น ยอมจำนนกันหมด ดังนั้นหากพวกเรายังมีส่วนร่วมในการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองแบบนี้ต่อไป ในอนาคตระบอบการเมืองที่ควรอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปกครองด้วยรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นระบอบการเมืองที่ปกครองด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นระบอบอะไรก็ไม่รู้โดยชอบ ไม่สำคัญเท่ากับการกระทำที่ศาลรัฐธรรมนูญชอบ นี่เป็นประเด็นใหญ่” นายชัยธวัช กล่าว

ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมด หัวหน้าพรรคและ สส.ก้าวไกล จึงขอสงวนความเห็นในที่ประชุมรัฐสภาแห่งนี้ ด้วยการงดออกเสียงในญัตติดังกล่าว ไม่ใช่เพราะต้องการจะขัดขวางการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และไม่ใช่การขัดขวางญัตติของนายชูศักดิ์ และคณะ “ที่เรางดออกเสียงครั้งนี้เพื่อส่งเสียงเตือนให้รัฐสภาช่วยกันทบทวนแก้ไขระบบการเมืองในอนาคต เพื่อให้สถาบันการเมืองต่าง ๆ มีดุลยภาพ โดยมีอำนาจประชาชนเป็นอำนาจสูงสุด”

คำชี้แจงจากวันนอร์ เหตุไม่บรรจุร่างแก้ไข รธน.

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ใช้สิทธิชี้แจงเหตุผลที่ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายชูศักดิ์ เพราะเป็นการแก้ไขทำนองเดียวกับกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. เสนอมาเมื่อ 17 มิ.ย. 2564 ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาในขณะนั้น วินิจฉัยว่าไม่สามารถบรรจุกฎหมายได้ ตามมติความเห็นของคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นต่อประธานสภาในเรื่องวินิจฉัยการบรรจุกฎหมาย เมื่อ 18 มิ.ย. 2564 จึงให้สำนักงานแจ้งผลไปยังนายสมพงษ์เมื่อ 21 มิ.ย. 2564

เมื่อนายชูศักดิ์เสนอร่างมา จึงให้ฝ่ายประสานงานกฎหมายของสภาวินิจฉัยเบื้องต้น ซึ่งคณะกรรมการมีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย โดยเสียงข้างมากเห็นว่าไม่ควรบรรจุเพราะเป็นกฎหมายทำนองเดียวกันที่นายสมพงษ์เสนอ และประธานสมัยที่แล้วไม่บรรจุมาแล้ว แต่เพื่อความรอบคอบ แม้เป็นกฎหมายทำนองเดียวกัน แต่เหตุการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว จึงให้พิจารณาอีกครั้ง เอาความเห็นใหม่เลย ซึ่งคณะกรรมการได้ประชุมใหม่ โดยเสียงข้างมากระบุว่าถ้าบรรจุจะไปขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

“แม้เราไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย แต่คำวินิจฉัยศาลผูกพันทุกองค์กร เมื่อคณะกรรมการเสียงข้างมากเห็นตรงกับการวินิจฉัยเมื่อปี 2564 เห็นตรงอย่างเดิม ในฐานะประธานสภาก็ไม่สามารถให้บรรจุได้เช่นเดียวกัน” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

สองประธาน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา (ซ้าย) กับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ในฐานะประธานรัฐสภา

จากนั้นเขามอบหมายให้เลขาฯ ส่งหนังสือไปแจ้งนายชูศักดิ์ และได้เชิญนายชูศักดิ์มาพบและแจ้งความเห็นเพื่อหารือร่วมกัน ซึ่งนายชูศักดิ์บอกว่าไม่เป็นอะไร เมื่อประธานไม่บรรจุ ก็จะหาทางทำอย่างอื่นแทน จึงเป็นที่มาของญัตติที่เสนอให้รัฐสภาพิจารณาวันนี้ ซึ่งไม่ได้วินิจฉัยว่าสภามีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่ แต่ให้มีความชัดเจนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งออกมาแล้วก็มีความเห็นไม่ตรงกัน

ประธานวันนอร์ยืนยันว่า ได้ทำหน้าที่ไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และตามข้อบังคับแล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา “ก็ไม่มีอะไรเพื่อความชัดเจนในการเดินไปข้างหน้า เพื่อไปแล้วไม่ล้ม ไม่เสียของ ไม่เสียงบประมาณ ไม่เสียเวลาประชาชนโดยไม่จำเป็น”

ท่าที สว.

ขณะที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แสดงจุดยืนอย่างแตกต่างหลากหลาย โดยหลายคนไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เช่น นายดิเรกฤทธิ์ เจนคลองธรรม กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้ไม่ใช่ผลพวงเผด็จการอะไร หรือใช้ข้ออ้างเรื่องต้นไม้พิษ องค์กรที่เกิดมาเป็นพิษหมด เพราะจริง ๆ แล้วมีองค์กรกลางที่เป็นอิสระเป็นผู้ยกร่างให้ แล้วก็ไปผ่านประชามติ ที่บอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย อยากให้บอกมาว่าามีกี่ข้อ

“ที่สำคัญคือ มี สว. ชุดนี้เป็นเผด็จการ ไม่เป็นประชาธิปไตย วันที่ 10 พ.ค. ก็ครบวาระแล้ว อาจอยู่ต่อจน สว. ชุดใหม่มา แต่บทเฉพาะกาลถูกยกเลิกไปแล้วที่ว่า สว. มีส่วนไปกำกับยุทธศาสตร์ชาติ และเลือกนายกฯ ตรงนี้มันหมดไปแล้ว ก็ในเมื่อ สส. ทุกท่านก็ยอมรับกติกา โฆษณานโยบายหาเสียง และท่านก็ภาคภูมิใจมากที่เป็นตัวแทนประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นี่เป็นประเด็นว่าไม่น่าจะต้องแก้ไขใหญ่นะ” นายดิเรกฤทธิ์กล่าว

นี่เป็นอีกครั้งที่ สว.ดิเรกฤทธิ์ย้ำว่า ไม่เห็นด้วยกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้เหตุผลว่าบริบทการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว “สว. ที่ท่านรังเกียจกำลังจะพ้นไป คำถามคือ สส. 500 คน และ สว. 200 คนกลุ่มอาชีพที่กำลังจะเข้ามา มีความเป็นตัวแทนประชาชนไม่พอหรือ ต้องไปเลือกคนมาเป็น สสร. ซึ่งไม่รู้ว่ามีความแตกต่างจาก สส. และ สว. อย่างไร” อีกทั้งการทำประชามติจะทำให้คนแตกแยก ขาดความสามัคคี ถกเถียงกันในเรื่องที่ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน จึงไม่เห็นด้วยกับการบรรจุวาระนี้เข้าประชุมร่วมรัฐสภา และไม่เห็นด้วยกับการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือมีรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

เช่นเดียวกับนายสมชาย แสวงการ ที่อภิปรายโดยสรุปได้ว่า ไม่เห็นด้วยกับการส่งศาลตีความ เสียเวลาสภา และเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจวินิจฉัยอย่างอื่นที่ขัดต่อคำวินิจฉัยเดิม

ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ เห็นด้วยกับการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะการทำประชามติหลายครั้งอาจนำไปสู่การสิ้นเปลืองงบประมาณ โดยประชามติครั้งหนึ่งใช้งบราว 3,000 ล้านบาท หากทำประชามติ 3 ครั้ง รวมถึงเลือก สสร. และให้ สสร. ทำงานอีก 1-2 ปี “ไป ๆ มา ๆ จะแก้รัฐธรรมนูญครั้งหนึ่งใช้เกือบ 20,000 ล้านบาท ถึงบอกว่าแค่ 2 ครั้งสำหรับประชามติก็มากเกินพอแล้ว”

สว.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix